เทรนด์การจัด AGM 2024
จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2019 ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวนมาก ไม่สามารถจัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น (Annual General Meeting : AGM) ในรูปแบบ Physical Meeting ได้ เนื่องจากมาตรการควบคุมความเสี่ยงของโรคระบาดในขณะนั้น ซึ่งหลังจากนั้นได้มี พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ออกมาบังคับใช้ ในวันที่ 26 พ.ค. 2020 เพื่อใช้สำหรับการประชุมที่ต้องการผลตามกฎหมาย หรือกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประชุม เช่น การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หรือการประชุมของคณะกรรมการต่างๆ จึงทำให้บริษัทจดทะเบียนสามารถจัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. Physical Meeting 2. e-Meeting 3. Hybrid Meeting
Thai IOD จึงได้ทำการสำรวจรูปแบบการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วง ปี 2021 – 2024 ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
· สัดส่วนการจัดประชุมในรูปแบบ Physical Meeting ลดลง 29% ในปี 2022 (จาก 65% เป็น 36%)โดยเปลี่ยนเป็นการประชุม E-AGM แทน และมีแนวโน้มคงที่อยู่ที่ 36% จนถึงปัจจุบัน
· สัดส่วนการจัดประชุมในรูปแบบ e-Meeting (E-AGM) เพิ่มขึ้นถึง 1.8 เท่า ในปี 2022 โดยมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย และคงที่อยู่ที่ 58% ในปี 2024
· เริ่มมีการจัดประชุมในรูปแบบ Hybrid Meeting ในปี 2023 คิดเป็น 3% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากสัดส่วนการจัดประชุมในรูปแบบ Physical Meeting ที่ลดลง
หากพิจารณาข้อมูลผลสำรวจการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทกว่า 3,000 แห่งทั่วโลก ในปี 2023 ที่เก็บข้อมูลโดย LUMI (บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดประชุมผู้ถือหุ้นที่มีการดำเนินการทั่วโลก) พบว่า การจัดประชุมในรูปแบบ Physical Meeting กลับมามีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ในปี 2023 ภายหลังการสิ้นสุดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม การจัดประชุมในรูปแบบ Hybrid Meeting ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2021 มาเป็น 40% ในปี 2023
ที่มา : The Lumi take: Meeting trends for 2024
ทั้งนี้ในส่วนของแนวปฏิบัติที่ดีของ G20/OECD Principles of Corporate Governance ได้แนะนำให้บริษัทจดทะเบียนจัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในรูปแบบ e-Meeting หรือ Hybrid Meeting เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นในการเข้าร่วมประชุม รวมถึงลดเวลาและค่าใช้จ่ายของผู้ถือหุ้นในการเข้าร่วมประชุมด้วย
อย่างไรก็ตาม การจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น สามารถพิจารณารูปแบบการจัดประชุมได้ตามความเหมาะสมของบริษัท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อร่วมกันตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆ และติดตามการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถซักถามและแสดงความคิดเห็นในระหว่างการประชุม และรับฟังคำตอบจากคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัท โดยแสดงถึงความโปร่งใส และความรับผิดชอบในการบริหารงานของกรรมการ อันเป็นส่วนหนึ่งของการมีระบบกำกับดูแลกิจการที่ดี
เอกสารอ้างอิง
1. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.), 2563. สาระสำคัญของ พ.ร.ก. e-Meeting.
2. Dive, 2023. A Guide to Annual General Meeting (AGM): Definition, Types, and More.
3. LUMI, 2024. The Lumi take: Meeting trends for 2024.
4. Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD), 2023. G20/OECD Principles
of Corporate Governance.
ศิริพร วงศ์เขียว
Senior Analyst – R&D Management
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai IOD)
|