Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Awards Publications IOD Shop About IOD
แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการ ในการกำกับดูแลวัฒนธรรมองค์กร

วัฒนธรรมองค์กร หรือ Organizational Culture ถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ วัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งสะท้อนผ่านทัศนคติ รูปแบบการดำเนินงาน และสื่อสารผ่านความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย


การมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าขององค์กร เนื่องจากมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจไปสู่เป้าหมายขององค์กรที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาว เช่น บางกรณีที่บริษัทต้องการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจเพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ หากบริษัทไม่มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งรองรับและสนับสนุน การปรับเปลี่ยนดังกล่าวอาจมีอุปสรรคหรือไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากบุคลากรไม่มีแรงบันดาลใจในการปฏิบัติตาม หรือในบางกรณีที่บริษัทมีการสร้างค่านิยมในการปฏิบัติตามจริยธรรมและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด ก็จะทำให้บุคลากรในทุกส่วนงานของบริษัทดำเนินงานอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ วัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งย่อมทำให้พนักงานมีความภาคภูมิใจ มีความจงรักภักดีและไว้วางใจองค์กร และจะเป็นแรงจูงใจสำคัญในการดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถให้เข้ามาร่วมงาน


“แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการในการกำกับดูแลวัฒนธรรมองค์กร” มุ่งเน้นบทบาทของคณะกรรมการเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรใน สามส่วน คือ ความเข้าใจและการให้ความสำคัญ การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง และการกำกับดูแลเพื่อพัฒนาและรักษาวัฒนธรรมองค์กรในเชิงบวก เพื่อให้การดำเนินธุรกิจขององค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำเสนอเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. หลักการสำคัญ (Key Principles) และ 2. แนวปฏิบัติ (Guidelines)


หลักการสำคัญ (Key Principles) ของแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ ประกอบด้วย

1. คณะกรรมการควรให้ความสำคัญวัฒนธรรมองค์กร (Organizational culture) ว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างพฤติกรรมของพนักงานและสะท้อนออกมาเป็นภาพลักษณ์ขององค์กร วัฒนธรรมองค์กรพัฒนามาจากความเชื่อในคุณค่าที่พนักงานยึดถือและปฏิบัติมาอย่างยาวนาน จนเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติภายในองค์กร

2. คณะกรรมการควรร่วมกับฝ่ายจัดการกำหนดค่านิยมองค์กร (Organizational values) เพื่อเป็นทิศทางให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรตามที่คาดหวัง ซึ่งควรประกอบด้วยวัฒนธรรมทางด้านการดำเนินงานและวัฒนธรรมทางด้านจริยธรรม พร้อมกับสื่อสารให้ทราบโดยทั่วถึงกันทั้งภายในและภายนอกองค์กร

3. คณะกรรมการควรสร้างวัฒนธรรมของคณะกรรมการ (Boardroom culture) เพื่อแสดงค่านิยมร่วมกันของกรรมการ ในด้านพฤติกรรม ทัศนคติ และวิธีการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายจัดการ

4. คณะกรรมการควรสนับสนุนวัฒนธรรมองค์กรโดยประพฤติตนเป็นแบบอย่างและกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการมีกลไกในการพัฒนาและติดตามวัฒนธรรมองค์กร

5. คณะกรรมการควรกำหนดให้มีการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมหรือจรรยาบรรณธุรกิจขององค์กรเป็นลายลักษณ์อักษร และติดตามดูแลให้มั่นใจว่า องค์กรมีกระบวนการในการดำเนินงานที่เป็นไปตามจริยธรรม จรรยาบรรณธุรกิจและไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

6. คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่าระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ รูปแบบธุรกิจ และวัฒนธรรมองค์กร และมีแรงจูงใจที่เหมาะสมทั้งในรูปแบบทางการเงินและไม่ใช่การเงิน

7. คณะกรรมการควรดูแลให้มีช่องทางในการเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสม่ำเสมอเพื่อทราบประเด็นปัญหาซึ่งอาจมีผลกระทบต่อองค์กร รวมทั้งกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างทันท่วงที

8. คณะกรรมการควรดูแลให้องค์กรมีตัวชี้วัดด้านวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมกับธุรกิจและบริบทแวดล้อม เพื่อประเมินคุณภาพ ทิศทาง ความเสี่ยง และปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นและผลกระทบต่อเป้าหมายขององค์กร

9. คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่า ตัวชี้วัดที่มีอยู่สามารถแสดงให้เห็นถึงสัญญาณบ่งชี้ปัญหาด้านวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล เพื่อนำมาบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งควรทบทวนและประเมินเป็นประจำ ตลอดจนสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์แวดล้อม และติดตามแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สาระสำคัญในส่วนของแนวปฏิบัติ (Guidelines) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

 



Researches & Surveys Previous Next
 
Terms of Use | Privacy Statement | Site Map | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GSB GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha Tisco TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CNBC CG THailand