10 บทเรียนจากงาน Aspiring Directors ครั้งแรกในปีนี้ ภายใต้หัวข้อ Living Dhamma: Using Dhamma Principles to Guide Every Step of Life ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ – สวนโมกข์กรุงเทพ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ดร.ณัฐวุฒิ กุลนิเทศ CEO ADGES มาร่วมเสวนา
.

เห็นทุกข์ เห็นธรรม: ในวัยเด็ก อาจารย์กิตติพงศ์ ไม่มีความเข้าใจในศาสนาเลย แม้จะอ่านหนังสือธรรมะมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงความหมายได้อย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งอาจารย์ได้เผชิญกับความทุกข์ในชีวิต ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์ตัดสินใจไปปฏิบัติธรรม
.

ชอบทำงานเพื่อส่วนรวม: อาจารย์ให้เวลากับการทำงานเพื่อส่วนรวมมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่า ชีวิตที่ทำเพื่อผู้อื่นนั้น จะช่วยให้เรามีชีวิตที่สงบ ใช้สติ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม
.

หลักธรรมที่อาจารย์นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
o อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค): การหาต้นตอสาเหตุของปัญหาและเข้าใจถึงวิธีการขจัดมันอย่างแท้จริง
o พรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา): การมีเมตตาและการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความกรุณา เป็นการสร้างความสมดุลในชีวิตและสังคม
o อิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา): การมีฉันทะหรือความหลงใหลในสิ่งที่ทำ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต
.

สิ่งที่ผิดพลาดในชีวิตของอาจารย์: อาจารย์ได้เรียนรู้จากสองสิ่งที่ผิดพลาดในชีวิต คือ การมีอัตตาสูง โดยเฉพาะในช่วงอายุ 40 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และอีกสิ่งหนึ่งคือ การให้เวลากับครอบครัวน้อยเกินไป จนทำให้ท่านรู้สึกเสียดาย เพราะครอบครัวเป็นสถาบันที่มอบความรักและเป็นแหล่งพลังใจที่แท้จริง
.

การลดอัตตา: ธรรมะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราทบทวนตัวเอง วัยหนุ่มอาจเต็มไปด้วยความอยากได้ อยากมี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราก็ต้องละวางหัวโขน เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นความไม่เที่ยง
.

ความรักคือพลังชีวิต: ทุกชีวิตต้องเผชิญกับวิกฤตและการสูญเสีย หากเรามีคนที่รักคอยอยู่เคียงข้างและมอบความรักให้กับเรา ความรักนั้นจะเป็นพลังที่ช่วยให้เราผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ไปได้ และยังเป็นแรงบันดาลใจในการทำความดีเพื่อสังคมอีกด้วย
.

ความรัก การผิดหวังและการสูญเสีย: ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อาจารย์ได้เผชิญกับการสูญเสียจากคนใกล้ตัว ทำให้เข้าใจว่า การเตรียมตัวรับมือกับการสูญเสียเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเตรียมใจและพร้อมเผชิญกับมันอย่างมีสติและความเข้าใจ
.

งาน Living Will พินัยกรรมชีวิต: จากการเผชิญการสูญเสียคนใกล้ตัว ทำให้อาจารย์กิตติพงศ์ เป็นผู้หนึ่งที่พยายามส่งเสริมความรู้กับสังคมให้เห็นความสำคัญของการทำ Living Will เพื่อช่วยให้เราสามารถวางแผนการเดินทางช่วงสุดท้ายของชีวิต
[หมายเหตุ: Living Will คือหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าว่าไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต]
.

การนำหลักธรรมมาใช้กับบทบาทกรรมการ: ถ้ากรรมการมีธรรมะในหัวใจ กรรมการจะเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง อย่างน้อยสิ่งที่กรรมการควรยึดถือและใช้เป็นแนวทางคือ อิทธิบาทสี่ และ พรหมวิหารสี่ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีสติและมีความเป็นธรรม
.


มรดกที่อาจารย์อยากฝากไว้: ผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้วควรให้ความสำคัญกับการให้ ทั้งการให้ความรู้และการให้เวลา เพราะเมื่อเรารู้จักให้ เราจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ให้จะได้รับอย่างต่อเนื่อง คือ ความปิติใจที่เกิดจากการทำความดีและการช่วยเหลือผู้อื่น
.