12/ก.ค./2565
CAC ผนึกพลังสามัคคี สู่จุดเปลี่ยนคอร์รัปชัน
CAC ผนึกพลังสามัคคี สู่จุดเปลี่ยนคอร์รัปชัน
12 กรกฎาคม 2565 – แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) แสดงพลังภาคเอกชนเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจโปร่งใส พร้อมเสวนากับ 3 หน่วยงานภาครัฐ ร่วมสร้างจุดเปลี่ยนคอร์รัปชันในงาน CAC Certification Ceremony 2022 ภายใต้หัวข้อ จากพลังสามัคคี สู่จุดเปลี่ยนคอร์รัปชัน
CAC จัดงานเพื่อประกาศเกียรติคุณความมุ่งมั่นให้กับ 102 บริษัทที่พัฒนาระบบภายในเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากความเสี่ยงคอร์รัปชันจนสามารถผ่านการรับรองกับ CAC ได้ และเพื่อแสดงถึงพลังของภาคเอกชนที่ร่วมมือกันสร้างเครือข่ายธุรกิจโปร่งใส โดยในช่วงแรกของงาน ศ. (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) กล่าวว่า “ปัจจุบันคอร์รัปชันยังคงฝังรากลึกและมีกลเม็ดแยบยลมากขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือของภาคเอกชนและภาครัฐจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะพลังสามัคคีของพวกเราทุกคน ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนคอร์รัปชันที่ดีขึ้น”
คุณกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวในระหว่างการบรรยาย หัวข้อ “ต้านทุจริตอย่างยั่งยืน สู่สังคมไร้คอร์รัปชัน” ว่า “ในขณะที่ประเทศไทยมี 25 บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับความยั่งยืนจาก DJSI แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้รับการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index – CPI) ในลำดับที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นความย้อนแย้งและนำไปสู่คำถามว่า บริษัทที่ยั่งยืนจะอยู่ในสังคมหรือเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ได้อย่างไร
การแสดงพลังของภาคเอกชนของโครงการ CAC ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าบริษัทเอกชนมีความมุ่งมั่นและพร้อมขับเคลื่อนจนเกิดแนวคิด Change Agent หรือผู้พร้อมจะเปลี่ยนอนาคตของประเทศ โดย Change Agent จะให้การสนับสนุนการทำงานกับคู่ค้าที่โปร่งใส ซึ่งทำให้มีจำนวนที่แผ่ขยายออกไปให้กว้างขึ้น แข็งแรงขึ้น ประกอบกับการทำงานของ CAC ที่ใกล้ชิดกับภาครัฐที่นำปัญหาจากภาคเอกชนมาร่วมหารือและหาทางออกร่วมกัน โดยมีความเชื่อว่า สังคมไร้คอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ เมื่อทุกฝ่ายมุ่งมั่นและร่วมมือกัน”
และในช่วงเสวนากับ 3 ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ต่างร่วมแสดงความเห็นในเรื่อง "ปฏิเสธคอร์รัปชัน ถึงวันหยุดจ่ายสินบน” มีคุณช่อผกา วิริยานนท์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยประเด็นเสวนามุ่งเน้นเรื่องช่องทาง วิธีการร้องเรียน และความปลอดภัยจากการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน รวมถึงผลสำรวจจากการสอบถามประชาชนเรื่องการแจ้งร้องเรียนผ่านช่องทางการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผลสำรวจพบว่า 17% ไม่กล้าแจ้ง เนื่องจากไม่มั่นใจในมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และ 83% ของผลสำรวจตอบว่ากล้าแจ้ง แต่ก็ยังมีความกังวลและไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งตัวแทนจากทั้ง 3 องค์กร ต่างให้ความมั่นใจว่าระบบการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนมีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
คุณอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า “ภาครัฐให้ความสนใจในการป้องกัน ป้องปรามการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นมากกว่าการทุจริตที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะการป้องปรามนี้จะช่วยลดความเสียหายได้มากกว่า ดังนั้น ทาง ป.ป.ช. ได้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center : CDC) เพื่อเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริตที่สามารถป้องปราม และลดการทุจริต เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เข้ามาช่วยให้การทำงานในยุคดิจิทัลมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
คุณพุฒิพงษ์ เลิศสถิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้ข้อแนะนำในการส่งบัตรสนเท่ห์ให้มีประสิทธิภาพและช่วยเสริมการทำงานให้รวดเร็วขึ้นคือต้องระบุชื่อ ตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกร้องเรียน รวมถึงรายละเอียดข้อร้องเรียนที่ไม่ทำตามกฎเกณฑ์หรือกฏหมาย ความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงพยาน หลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว
ทางด้าน พ.ต.อ.สมศักดิ์ เนียมเล็ก ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เสริมว่า เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามมีประสิทธิภาพนั้น เมื่อทาง บก.ปปป. ได้รับแจ้งหรือร้องเรียนจะมีการสืบสวน สอบสวน รวมถึงลงพื้นที่เพื่อหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกระบวนการโดยเร็ว
งาน CAC Certification Ceremony 2022 “จากพลังสามัคคี สู่จุดเปลี่ยนคอร์รัปชัน” แสดงถึงการรวมพลังจากทั้งภาคเอกชนมีความตื่นตัวมากยิ่งขึ้นในการปฏิเสธการคอร์รัปชัน และพลังจากทางภาครัฐที่สร้างระบบและความเชื่อมั่นที่จะลดการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ซึ่งการรวมพลังนี้ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจ ทำให้เกิดพลังสามัคคี และนำพาให้เกิดจุดเปลี่ยนคอร์รัปชันในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
Background
CAC ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 จากความริเริ่มของภาคเอกชนไทย ภายใต้การริเริ่มของคุณชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการ IOD เพื่อให้บริษัทที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำธุรกิจโปร่งใสสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในรูปแบบของแนวร่วม หรือ Collective Action โดยมุ่งสร้างและขยายแนวร่วมในภาคเอกชน เพื่อสร้างกระแสการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการที่จะปฏิเสธการรับและจ่ายสินบน รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ซึ่งจะช่วยสร้างระบบนิเวศของการทําธุรกิจที่โปร่งใส นอกจากนี้ CAC ยังทําหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับภาคธุรกิจเอกชน โดยการประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปรามปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรเพื่อพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเรื่องปัญหาคอร์รัปชันที่ภาคเอกชนประสบ
CAC จัดตั้งขึ้นโดย 8 องค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการขับเคลื่อนโครงการ
สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ CAC เพิ่มเติม
แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย
โทรศัพท์ 0-2955-1155 ต่อ 313 หรือ 088-088-5085
อีเมล์ cac@thai-iod.com
ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน
คุณสาริณี เรืองคงเกียรติ ผู้ช่วยผู้จัดการ ส่วนงานสมาชิกสัมพันธ์ ฝ่ายการตลาดและสมาชิกสัมพันธ์
โทร. 02 955 1155 ต่อ 402 หรือ 088-227-9114
อีเมล์ sarinee@thai-iod.com
|