Global Internal Audit Standards 2024 & Implications for Audit Committee
สมาคมผู้ตรวจสอบภายใน สหรัฐอเมริกา ได้ปรับปรุงมาตรฐานการตรวจสอบภายใน (มาตรฐานฯ)โดยประกาศใช้ New Global Internal Audit Standards 2024 เมื่อ 9 มกราคม 2567 และจะมีผลบังคับใช้วันที่ 9 มกราคม 2568 ประเด็นสำคัญในการเปลี่ยนแปลงคือการให้แนวทางการทำงานที่กรรมการบริษัทหรือกรรมการตรวจสอบ CEO และหัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายในต้องทำร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อความสำเร็จของงานตรวจสอบภายใน และยังช่วยสนับสนุนบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการบริษัท หากไม่ได้ปฏิบัติร่วมกันตามนี้ จะถือว่าการปฏิบัติงานตรวจสอบภายในไม่ได้ทำตามมาตรฐานฯอย่างครบถ้วน
มาตรฐานฯใหม่นี้ประกอบด้วย 5 โดเมน 15 หลักการ 53 มาตรฐาน โดยแต่ละโดเมนมีดังนี้
Domain สำคัญที่กรรมการบริษัทและกรรมการตรวจสอบต้องทำความเข้าใจให้ดีคือ Domain 3 – Governing the Internal Audit Function ซึ่งมีหลักการสำคัญที่มาตรฐานเรียกว่า “Essential Conditions” ดังนี้
หลักการที่ 6 :
คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบแสดงหลักฐานให้เห็นว่าได้ร่วมกับ CEO สนับสนุนงานตรวจสอบภายในดังต่อไปนี้
- ให้หน่วยตรวจสอบภายในมีอำนาจหน้าที่ บทบาท และความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่
- กฎบัตรที่คณะกรรมการตรวจสอบอนุมัติต้องกล่าวถึงบทบาท ความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายในอย่างครบถ้วน
- ให้หน่วยตรวจสอบภายในสามารถเข้าถึงข้อมูลและปฏิบัติงานโดยไม่มีข้อจำกัด รวมถึงการสื่อสารโดยตรงกับคณะกรรมการตรวจสอบ
หลักการที่ 7 :
คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบแสดงหลักฐานให้เห็นว่าได้ร่วมกับ CEO สนับสนุนงานตรวจสอบภายในดังต่อไปนี้
- ทำให้หน่วยงานตรวจสอบภายในมีความเป็นอิสระในการทำงานทุกด้าน
- คณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนหัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน รวมถึงการให้ข้อมูลต่อ CEO เพื่อร่วมกันประเมินผลงานของผู้ตรวจสอบภายใน
- กำหนดคุณสมบัติ ประสบการณ์ และความสามารถที่จำเป็นต่อการดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน
หลักการที่ 8 :
คณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบแสดงหลักฐานให้เห็นว่าได้ร่วมกับ CEO สนับสนุนงานตรวจสอบภายในดังต่อไปนี้
- การปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงตามกฎบัตร รวมถึงการช่วยแนะนำลำดับความสำคัญของงาน และเรื่องที่ต้องรายงานคณะกรรมการตรวจสอบ
- การจัดบุคคลากรของหน่วยงานตรวจสอบภายในให้มีความเพียงพอทั้งจำนวนและความสามารถ
- การเน้นเรื่องคุณภาพของงานตรวจสอบภายใน รวมถึงการทำประเมินคุณภาพงานตรวจสอบภายใน
- การกำหนดขอบเขตงานและความถี่ของการประเมินคุณภาพงานตรวจสอบภายใน
- การอนุมัติแผนงานและแผนเวลาในการปรับปรุงคุณภาพงานตรวจสอบภายใน ตามผลที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพ
การปฏิบัติที่เป็น Essential Conditions ข้างต้นนี้ ทั้งคณะกรรมการตรวจสอบ CEO และผู้ตรวจสอบภายในจะต้องทำเป็นหลักฐานให้ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ และใช้เป็นข้อมูลประกอบการปฏิบัติงานตามมาตรฐานการตรวจสอบภายใน ทั้งนี้ ทุกท่านสามารถอ่านรายละเอียดของมาตรฐานฯฉบับเต็มได้ที่ “2024 Global Internal Audit Standards”
คณะกรรมการตรวจสอบกว่า 200 ท่าน ได้เข้าร่วมสัมมนาเรื่องนี้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่จัดโดย IOD ทุกท่านเห็นด้วยกับการปรับปรุงนี้ และทุกคนจะไปหารือกับผู้ตรวจสอบภายในในบริษัทของตนเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องและสอดคล้องตามมาตรฐานนี้ต่อไป
เขียนโดย วารุณี ปรีดานนท์ DCP รุ่น 41 และที่ปรึกษาด้านการกำกับดูแลกิจการ การบริหารความเสี่ยง การตรวจสอบภายใน ESG และ GRC
|