Article - มาบตาพุด ถึงที่สุดจะไปทางไหน
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ร่วมกับบริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ บริษัทในเครือของชาร์ทิส, อิงค์ (Chartis) จัดงาน Luncheon Briefing ในหัวข้อ “มาบตาพุด ถึงที่สุดจะไปทางไหน” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.เดชรัต สุขกำเนิดกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (คณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาลพิษสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด) และ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมาเป็นผู้บรรยายในครั้งนี้
เริ่มแรก ดร.เดชรัต ได้เล่าถึงที่มาของคณะทำงานนี้ ว่าเกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยที่ประชาชนเป็นผู้ได้รับความเสียหาย และฟ้องต่อศาลปกครอง ว่าหน่วยงานทั้ง 8 อนุมัติ อนุญาต และให้ความเห็นให้กลุ่มโรงงานใหม่ทั้ง 76 โครงการก่อสร้างในมาบตาพุด ทั้งที่อาจเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ซึ่งเข้าข่ายมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550 และศาลปกครองวินิจฉัยว่ามีผลกระทบรุนแรงเข้าข่าย มาตรา 67 วรรคสอง จึงมีคำสั่งระงับโครงการ หรือกิจกรรม ที่กำลังดำเนินการในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยองเป็นการชั่วคราว และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตาม มาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือที่รู้จักกันในนาม คณะกรรมการ 4 ฝ่าย โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะกรรมการ และมีตัวแทนจากภาครัฐบาล ภาคเอกชน ประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิ (ฝ่ายวิชาการ) โดยมี 2 ภารกิจหลัก คือ 1. การกำหนดหลักเกณฑ์กติกา เพื่อปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2. การจัดการแก้ไข ลด และขจัดมลพิษสำหรับเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเป็นรูปธรรม
|