Boardroom Flash Special:Boardroom Culture: หัวใจของการทำหน้าที่ของคณะกรรมการอย่างมีประสิทธิภาพ
แฟนประจำ Boardroom Flash แปลกใจหรือไม่ว่า เหตุใดจึงมี Boardroom Flash ฉบับนี้ ทั้งที่เพิ่งออกฉบับประจำเดือนธันวาคม ต้องขอบอกว่า Boardroom Flash ฉบับนี้เป็นฉบับพิเศษส่งท้ายปี 2562 และด้วยเหตุที่ต้องการให้เป็นฉบับพิเศษ ส่งท้ายปี หัวข้อที่นำเสนอจึงเป็นเรื่อง Boardroom Culture ซึ่งเท่าที่ค้นหาข้อมูลมา โดยเฉพาะในประเทศไทย มีบทความที่นำเสนอหัวข้อนี้น้อยมาก แต่เนื่องจากหัวข้อนี้เป็น Theme ประจำปี 2562 ที่ IOD เห็นว่า ควรส่งเสริม ทีม Knowledge ของ IOD จึงได้ศึกษาข้อมูลและนำมาเรียบเรียงเพื่อมอบเป็นของขวัญพิเศษส่งท้ายปีให้กับท่านกรรมการทุกท่านผ่าน Boardroom Flash ฉบับพิเศษนี้
Boardroom Culture: คืออะไร สำคัญอย่างไร
จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดคงต้องเริ่มจากการทำความรู้จักกับคำว่า “วัฒนธรรม” ก่อนว่าหมายถึงอะไร ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2554) ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “วัฒนธรรม” คือ สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมในการแต่งกาย วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา
สำหรับ “Boardroom Culture” นั้น Spencer Stuart (2018) ได้นำเสนอไว้ว่า “Boardroom Culture” เกิดจากความคิด บรรทัดฐานของกลุ่ม ความเชื่อ ค่านิยม และสิ่งที่สร้างขึ้นมา (เช่น วาระการประชุมของคณะกรรมการ) ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการมีปฏิสัมพันธ์และการตัดสินใจของคณะกรรมการ เช่น รูปแบบการอภิปราย คุณภาพของการมีส่วนร่วมของกรรมการ ความเชื่อใจระหว่างกรรมการ รวมถึงวิธีการตัดสินใจของคณะกรรมการ ทั้งนี้ความหมายของ Boardroom Culture มิได้มีคำจำกัดความที่ตายตัวและมิได้มีการกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ตามBoardroom Culture จะมีความแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับภูมิภาค เชื้อชาติ หรือวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ เช่น ในที่ประชุมคณะกรรมการ การพูดตรงไปตรงมาอาจเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในคณะกรรมการชุดหนึ่ง แต่ในคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งอาจจะต้องอาศัยการพูดแบบอ้อม ๆ อย่างมีชั้นเชิง เป็นต้น
บทความของ Spencer Stuart (2018) ยังนำเสนอถึงความสำคัญของ Boardroom Culture ไว้ว่า ถือเป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจัยผลักดันที่ทำให้ Boardroom Culture กลายเป็นประเด็นที่คณะกรรมการต้องตระหนักและให้ความสำคัญมากขึ้น ก็คือ 1. การเพิ่มขึ้นของบทบาทและความคาดหวังจากผู้ถือหุ้นที่มีต่อคณะกรรมการ จะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นต้องการเข้ามามีส่วนร่วมกับบริษัทที่เขาลงทุนมากขึ้น และพยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการในหลากหลายด้านตั้งแต่เรื่องกลยุทธ์ไปจนถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการ และ 2. ความหลากหลายในคณะกรรมการ ซึ่งผู้ถือหุ้นในปัจจุบันพยายามผลักดันให้เกิดความหลากหลายในคณะกรรมการทั้งทางด้านเพศ อายุ และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางความคิดในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ(อ่านต่อ...)
|