คุณภาพงานสอบบัญชี
เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการตรวจสอบอย่างไร
คุณภาพงานสอบบัญชี…เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการตรวจสอบอย่างไร
ถ้าพูดถึงคำว่า “สอบบัญชี” ทุกคนต้องคิดถึง “ผู้สอบบัญชี” หรือ “สำนักงานสอบบัญชี” การคิดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นงานในความรับผิดชอบโดยตรง แต่หากพูดถึง “คุณภาพงานสอบบัญชี” นอกจากจากผู้สอบบัญชีหรือสำนักงานสอบบัญชีแล้ว คุณคิดถึงใคร
IOD อยากให้คุณคิดว่า ใครเป็นผู้คัดเลือกและเสนอชื่อให้คณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบและเสนอให้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท และใครที่ทำหน้าที่ในการสอบทานรายงานทางการเงินให้มีความถูกต้องและพอเพียง โดยมีผู้สอบบัญชีเป็นผู้ช่วยในการสอบทาน เชื่อว่า คำตอบของทุกคน คงหนีไม่พ้น “คณะกรรมการตรวจสอบ” ซึ่งคำถามต่อไป คือ คณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวข้องกับคุณภาพงานสอบบัญชีอย่างไร
คุณภาพงานสอบบัญชีจะเกิดขึ้นเมื่อมีผู้สอบบัญชีที่ดีและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง การมีผู้สอบบัญชีที่ดีได้นั้น ทางหน่วยงานกำกับดูแลได้กำหนดไว้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบว่า จะต้องพิจารณาคัดเลือก เสนอแต่งตั้งบุคคล ซึ่งมีความเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่ผู้สอบบัญชีของบริษัท และด้วยเหตุที่ผู้สอบบัญชีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้แทนจากภายนอกเพื่อเข้ามาสอบทานให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ การแต่งตั้งและกำหนดค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชีจึงกลายเป็นวาระหลักวาระหนึ่งของการประชุมผู้ถือหุ้น
หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา วาระแต่งตั้งผู้สอบบัญชีส่วนใหญ่จะนำเสนอแค่เพียงชื่อและจำนวนค่าตอบ แทนเท่านั้นแต่จากผลการประเมินโครงการ CGR ของ IOD ปี 2562 พบว่า 99% ของบริษัทจดทะเบียนไทยได้นำเสนอถึงชื่อ เหตุผลของการเลือก และข้อมูลค่าตอบแทนแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม บางบริษัทอาจยังนำเสนอเหตุผลของการเลือกไม่ชัดเจนมากนักซึ่งจุดนี้ IOD ขอคำแนะนำให้คณะกรรมการตรวจสอบศึกษา “แนวทางสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบในการพิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชี” ที่จัดทำโดย ก.ล.ต. ซึ่งได้นำเสนอประเด็นที่คณะกรรมการตรวจสอบควรถามจากสำนักงานสอบบัญชีก่อนตัดสินใจเลือกที่ครอบคลุมทั้ง 1. การให้ความสำคัญกับคุณภาพงานสอบบัญชี 2. การจัดสรรทรัพยากรบุคคลอย่างเพียงพอและเหมาะสม 3. การมีส่วนร่วมของผู้สอบบัญชีและทีมตรวจสอบ 4. การใช้วิจารณญาณเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพสอบบัญชี และ 5. ความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชี
|
|
นอกจากนี้ ก่อนการตัดสินใจเลือกสำนักงานสอบบัญชีใด คณะกรรมการตรวจสอบควรขอผลการตรวจระบบการควบคุมคุณภาพสำนักงานสอบบัญชี หรือที่เรียกว่า Firm Report ของสำนักงานสอบบัญชีที่จะคัดเลือกมาประกอบการพิจารณา เนื่องจาก Firm Report นี้ จะแสดงให้เห็นว่า สำนักงานสอบบัญชีนั้นมีระบบควบคุมเป็นอย่างไร ซึ่ง Firm Report นี้ ประเมินโดย ก.ล.ต. จึงเป็นตัวช่วยที่ดีให้คณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งท่านสามารถขอจากสำนักงานสอบบัญชีได้โดยตรง
ถ้าคณะกรรมการตรวจสอบได้ใช้แนวทางนี้เป็นตัวช่วยในการคัดเลือกผู้สอบบัญชี ก็คาดว่า จะทำให้ผู้สอบบัญชีที่ดี และสามารถให้เหตุผลที่เหมาะสมและเป็นที่น่าเชื่อถือกับผู้ถือหุ้นได้ แต่คณะกรรมการตรวจสอบต้องไม่ลืมว่า ผู้สอบบัญชีที่จะคัดเลือกมาจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และ สังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่มีระบบการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามที่กำหนด รวมถึงต้องมีการเปลี่ยนผู้สอบบัญชีเมื่อครบ 7 ปี และเว้นวรรคผู้สอบบัญชีรายเดิม 5 ปีด้วย
เมื่อผู้สอบบัญชีเข้าปฏิบัติงานแล้ว คุณภาพงานสอบบัญชีจะเกิดขึ้นเมื่อคณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติงานร่วมกับผู้สอบบัญชีในการสอบทานรายงานทางการเงินให้มีความถูกต้องและเพียงพอ ซึ่งคำแนะนำสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบในการทำหน้าที่นี้ ก.ล.ต. ได้จัดทำ “แนวคำถามที่คณะกรรมการตรวจสอบอาจสอบถามผู้สอบบัญชีเพื่อประโยชน์ในการสอบทานบัญชี” ไว้
ความน่าสนใจของเอกสารนี้คือ มีการนำเสนอทั้งกรณีการสอบทานงบการเงินปกติ กรณีที่กรรมการตรวจสอบต้องการลงรายละเอียดในเรื่องที่เกี่ยวกับรายการระหว่างกิจการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกันและกรณีที่กรรมการตรวจสอบต้องการลงรายละเอียดในรายการธุรกิจที่สำคัญของบริษัท ซึ่งในแต่ละกรณียังให้คำแนะนำตั้งแต่ขั้นตอนของการวางแผนและขั้นตอนการสอบทานงบการเงินเป็นรายไตรมาสและประจำปี
นอกจากสองบทบาทที่กล่าวแล้ว คณะกรรมการตรวจสอบสามารถช่วยส่งเสริมให้เกิดคุณภาพงานสอบบัญชีได้อีกหลายบทบาท ซึ่ง IOD ขอสนับสนุนให้ท่านได้ศึกษา “รายงานองค์กรคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (IOSCO) ว่าด้วยแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบในการเพิ่มคุณภาพงานสอบบัญชี” ซึ่ง ก.ล.ต. ได้แปลเป็นภาษาไทยไว้ให้แล้ว
ส่วน IOD กำลังเตรียมเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสำนักงานสอบบัญชีและค่าสอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียนไทย เช่น บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ใช้บริการสำนักงานสอบบัญชีใด ค่าสอบบัญชีเป็นอย่างไร มีความแตกต่างตามขนาดหรือประเภทอุตสาหกรรมอย่างไร รวมถึง IOD ยังมีแผนที่จะปรับปรุงคู่มือกรรมการตรวจสอบด้วย อยากให้ทุกท่านติดตาม IOD อย่างต่อเนื่อง รับรองว่าไม่พลาดข้อมูลดี ๆ แน่นอน
LINK ข้อมูล
แนวทางสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบในการพิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชี
แนวคำถามที่คณะกรรมการตรวจสอบอาจสอบถามผู้สอบบัญชีเพื่อประโยชน์ในการสอบทานบัญชี
แนวปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบในเรื่องการหมุนเวียนผู้สอบบัญชี
รายงานองค์กรคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (IOSCO) ว่าด้วยแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบในการเพิ่มคุณภาพงานสอบบัญชี
|