การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) : หลักการและความเสี่ยงที่กรรมการควรรู้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) : หลักการและความเสี่ยงที่กรรมการควรรู้
ปัจจุบันโลกกำลังประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและมีความถี่ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในโลก สภาพภูมิอากาศที่กล่าวถึงนี้ เป็นการกล่าวถึง อุณหภูมิเฉลี่ย ความชื้น และปริมาณฝนหรือหิมะที่ตกตามแต่ละฤดูกาลในระดับภูมิภาค ในช่วงเวลาที่ยาวนานเป็นปีหรือหลายทศวรรษ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ย ความชื้น และปริมาณฝนโดยทั่วไปในพื้นที่หรือภูมิภาคหนึ่ง ๆ ซึ่งสภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด หลายครั้งที่สภาพภูมิอากาศของโลกร้อนขึ้นกว่าที่เคยเป็น และหลายครั้งที่เย็นลง อย่างไรก็ตามช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี ค.ศ. 1880 เป็นต้นมา สภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ดังจะเห็นได้จากแผนภาพด้านล่าง
จากสถิติการรายงานสภาพภูมิอากาศในเดือนมกราคม 24563 พบว่าพื้นผิวโลกและพื้นผิวมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงที่สุดในรอบ 141 ปี โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.14 ° C (2.05 ° F) สูงกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 อยู่ 0.02 ° C (0.04 ° F) แม้ว่าจะดูเหมือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นนี้กลับส่งผลอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย มีทั้งปัจจัยจากธรรมชาติ อันได้แก่ พลังงานจากดวงอาทิตย์ วงโคจรของโลก เป็นต้น และปัจจัยจากมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก โดยกิจกรรมสำคัญที่มีผลทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คือ กิจกรรมที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า และการทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม เป็นเหตุให้ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น ที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Global warming)
นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา การดำเนินกิจกรรมขององค์กรหรือธุรกิจมีการใช้พลังงานและวัตถุดิบ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากในการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มักจะก่อให้เกิดมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำหรือทางอากาศ รวมถึงของเหลือจากการผลิตที่จะกลายเป็นขยะที่ต้องกำจัดต่อไป ในปี 2017 รายงานจาก Carbon Majors บ่งชี้ว่า 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกที่ผลิตตั้งแต่ปี 1988 มาจากเพียง 100 ธุรกิจ จึงเป็นความรับผิดชอบขององค์กรที่ต้องดูแลเอาใจใส่ต่อการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงเป็นปัญหาที่คณะกรรมการจะต้องใส่ใจ แต่ยังเป็นความกังวลของตลาดอีกด้วย ซึ่งมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่กรรมการควรพิจารณา ดังต่อไปนี้
· ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง บริษัทที่มีกิจกรรมที่ใช้คาร์บอนมากจะเสี่ยงต่อการถูกเพิกถอนใบอนุญาตและการโจมตีของคนในสังคม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง
· ความเสี่ยงต่อทรัพย์สิน บริษัทที่มีโมเดลธุรกิจที่ต้องพึ่งพาหรือขึ้นกับกิจกรรมที่ใช้คาร์บอน อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะทำให้สูญเสียทรัพย์สินอย่างไม่คาดคิด เนื่องจากความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
· ความเสี่ยงทางกายภาพ ได้แก่ น้ำท่วม พายุและไฟป่า เป็นตัวอย่างของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศหลักที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว เป็นต้น
· ความเสี่ยงในการฟ้องร้อง มีความเป็นไปได้ที่บริษัทอาจถูกฟ้องร้อง หากการดำเนินกิจกรรมของบริษัทกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เห็นได้ชัด และอาจต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ตัวอย่างของโฟล์คสวาเกนที่ถูกตัดสินคดีโดยต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกค้าชาวออสเตรเลียจำนวน 127 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จากข้อกล่าวหาว่า โฟล์คสวาเกนมีส่วนร่วมในการดำเนินการที่ทำให้เข้าใจผิดหรือหลอกลวง เนื่องจากการติดตั้งซอฟต์แวร์รถยนต์ที่อ้างว่าช่วยให้ปล่อยมลพิษน้อยลง
· ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ อาจมีการออกกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบมากขึ้นหรือเป็นภาระทางเศรษฐกิจต่อบริษัท
จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายให้กับบริษัทอย่างมาก จึงเป็นประเด็นที่คณะกรรมการควรให้ความสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้คณะกรรมการมีแนวทางในการกำกับดูแลในเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ World Economic Forum (WEF) ร่วมกับ PricewaterhouseCoopers (PWC) ได้แนะนำหลักการ 8 ประการดังนี้
หลักการที่ 1 ความรับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศของคณะกรรมการ คณะกรรมการควรรับผิดชอบในการสร้างความมั่นใจว่าบริษัทมีแผนรองรับในระยะยาวต่อความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ
หลักการที่ 2 การตัดสินใจที่ถูกต้อง คณะกรรมการควรได้รับการข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศอย่างครบถ้วนและเหมาะสมเพื่อให้สามารถตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้
หลักการที่ 3 โครงสร้างคณะกรรมการ คณะกรรมการควรจัดโครงสร้างคณะกรรมการที่เหมาะสมและแต่งตั้งกรรมการที่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการความเสี่ยงและโอกาสด้านสภาพอากาศ
หลักการที่ 4 การประเมินความเสี่ยงและโอกาสที่เป็นรูปธรรม คณะกรรมการควรให้ความมั่นใจว่าฝ่ายบริหารสามารถระบุความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว รวมถึงประเมินและดำเนินการที่เหมาะสมตามความเสี่ยงที่เป็นสาระสำคัญ
หลักการที่ 5 การบูรณาการเชิงกลยุทธ์ คณะกรรมการควรทำให้ความมั่นใจว่า ความเสี่ยงและโอกาส ของปัจจัยการจัดการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศอยู่ในแผนกลยุทธ์ของบริษัท กระบวนการบริหารความเสี่ยงและการตัดสินใจลงทุน
หลักการที่ 6 การสร้างแรงจูงใจ คณะกรรมการควรกำหนดสิ่งจูงใจสำหรับผู้บริหารให้สอดคล้องกับความสำเร็จในระยะยาวของธุรกิจ ซึ่งอาจรวมถึงเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ
หลักการที่ 7 การรายงานและการเปิดเผย คณะกรรมการควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า บริษัทเปิดเผยความเสี่ยง โอกาสและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนและผู้กำกับดูแล การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ควรรวมอยู่ในการรายงานทางการเงิน
หลักการที่ 8 การแลกเปลี่ยน คณะกรรมการควรรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในปัจจุบันเกี่ยวกับการกำกับดูแลสภาพภูมิอากาศโดยการหารือกับบริษัทอื่น ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ
การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยดูแลในส่วนที่เป็นความรับผิดชอบของตนอย่างดีที่สุด ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนนั้น คณะกรรมการถือเป็นผู้ที่บทบาทสำคัญในการนำประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและกำกับดูแลให้ถ่ายทอดในกระบวนการปฏิบัติงานทั่วทั้งองค์กร ซึ่งจะช่วยให้บรรเทาผลกระทบระยะสั้นและแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้อย่างแท้จริง
|