Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
ความหลากหลายทางทักษะ: รากฐานของคณะกรรมการที่มีประสิทธิภาพ

ความหลากหลายทางทักษะ: รากฐานของคณะกรรมการที่มีประสิทธิภาพ
Skill Diversity: The Foundation of Board Effectiveness

ความหลากหลายภายในคณะกรรมการเป็นเรื่องที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่อีกประเด็นด้านความหลากหลายที่สำคัญไม่แพ้กันและคณะกรรมการไม่ควรมองข้าม ก็คือความหลากหลายทางทักษะของคณะกรรมการ ซึ่งครอบคลุมถึงทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของสมาชิกคณะกรรมการแต่ละคน

เมื่อการทำหน้าที่กำกับดูแลและตัดสินใจของคณะกรรมการส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัท ส่วนผสมของกลุ่มบุคคลที่ถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญนี้จึงควรประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความสามารถ มีความรู้ และประสบการณ์ที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดมุมมองที่กว้างขวาง ช่วยให้คิดวิเคราะห์และมองสถานการณ์ได้อย่างรอบด้าน เหมาะสมที่จะนำทางธุรกิจให้เห็นความเสี่ยงและโอกาส ดำเนินตามกลยุทธ์ บรรลุเป้าหมาย และเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างในบริบทของโลกและการแข่งขันที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทักษะของกรรมการที่หลากหลาย สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร และสามารถรับมือกับความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงและความต้องการที่ต่างกันของผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างทันท่วงที จึงยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ

ความหลากหลายทางทักษะของคณะกรรมการในระดับสากล

หลักการกำกับดูแลกิจการสำคัญในระดับสากลที่จัดทำโดย OECD ได้ให้ความสำคัญกับการมีทักษะของกรรมการที่เหมาะสมกับการทำหน้าที่มาตั้งแต่ปี 2004 หลังวิกฤตเศรษฐกิจและการล่มสลายของธุรกิจแสดงให้เห็นว่าทักษะของกรรมการเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการในองค์รวม ในหลักการ G20/OECD Principles of Corporate Governance ปี 2015 OECD ได้ระบุว่า คณะกรรมการควรประกอบไปด้วยกรรมการที่มีภูมิหลังและความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ และจากการสำรวจโดย OECD พบว่า หลักการกำกับดูแลกิจการของประเทศส่วนใหญ่มีแนวปฏิบัติเรื่องนี้ เช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่ระบุอย่างชัดเจนว่าทักษะที่คณะกรรมการควรพิจารณาให้มีควรครอบคลุมทักษะอะไรบ้าง ขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศที่เน้นให้พิจารณาถึงความสมดุลของทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ของกรรมการทุกคนให้มีความหลากหลายและเหมาะสม มากกว่าพิจารณาคุณสมบัติของกรรมการรายบุคคลเพียงอย่างเดียว เช่นประเทศอังกฤษ ที่แนะนำให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาความสมดุลของทักษะ ประสบการณ์ ความรู้ และความเป็นอิสระของสมาชิกคณะกรรมการก่อนจัดทำเกณฑ์สรรหากรรมการใหม่

เมื่อกล่าวถึงคุณสมบัติด้านทักษะและประสบการณ์ของกรรมการ คุณสมบัติที่ถือเป็นมาตรฐานที่คณะกรรมการควรมี อาจหนีไม่พ้นในเรื่องเช่น ความรู้ด้านการเงิน การบัญชี การตรวจสอบ กฎหมาย ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม และประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ แต่เมื่อโลกในปัจจุบันมีความตื่นตัวกับประเด็นใหม่ๆ เช่น ความยั่งยืนของกิจการ การคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย กระแส Disruption และบทบาทของคณะกรรมการในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร คณะกรรมการหลายแห่งก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการสรรหากรรมการที่มีทักษะและประสบการณ์แบบ “Non-traditional” เพิ่มขึ้น เช่น ความเชี่ยวชาญด้าน ESG เทคโนโลยี การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และประสบการณ์การบริหารธุรกิจในระดับสากล ตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาที่จากการสำรวจข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยโดย Institutional Investor Service ในปี 2019 พบว่า กรรมการใหม่ที่ถูกแต่งตั้งในปี 2019 มีทักษะและประสบการณ์แบบ Non-traditional เพิ่มขึ้น เพื่อให้เข้ามาเสริมทักษะมาตรฐานเดิมที่มีอยู่แล้วในคณะกรรมการ ดังจะเห็นได้จากแผนภาพด้านล่าง

อย่างไรก็ตาม ความหลากหลายทางทักษะของกรรมการที่ดี ที่มีความ “เหมาะสม” นั้น ย่อมไม่ใช่เพียงแค่เหมาะสมกับความท้าทายใหม่ๆ เพียงอย่างเดียว แต่ควรเหมาะสมกับทิศทางการดำเนินธุรกิจและเป้าหมายขององค์กรเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ความหลากหลายทางทักษะของคณะกรรมการสำหรับแต่ละบริษัทจึงไม่เหมือนกัน และไม่มีคำตอบกลางว่าส่วนผสมของทักษะกรรมการที่ดีที่สุดควรประกอบด้วยทักษะอะไรบ้าง แต่ขึ้นอยู่กับบริบทเฉพาะตัวทางกลยุทธ์ของธุรกิจที่คณะกรรมการแต่ละบริษัทต้องพิจารณา

ความหลากหลายทางทักษะของคณะกรรมการในประเทศไทย

หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 (CG Code) โดย ก.ล.ต. ก็สนับสนุนให้คณะกรรมการมีส่วนผสมของความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ทั้งเชิงกำกับดูแลและเชิงกลยุทธ์ตามบริบทของธุรกิจ โดย CG Code แนะนำให้สรรหากรรมการที่มีทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถที่หลากหลาย และควรมีกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารอย่างน้อย 1 คนที่มีประสบการณ์ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมหลัก โดยพิจารณาความสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทว่าจะช่วยให้คณะกรรมการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักขององค์กรหรือไม่

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ปี 2562 โดย IOD พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนไทยเพียง 32% เท่านั้นที่กำหนดคุณสมบัติของกรรมการที่ต้องการสรรหาให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท

แนวทางสร้างความหลากหลายทางทักษะของคณะกรรมการด้วย Skills Matrix

เครื่องมือที่ CG Code แนะนำในการดูแลให้ส่วนผสมของกรรมการมีคุณสมบัติที่สมดุลและสอดคล้องกับกลยุทธ์ คือการจัดทำตารางองค์ประกอบความรู้ความชำนาญ หรือ Skills Matrix ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อแนวทางการสรรหากรรมการใหม่และการพัฒนากรรมการเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของคณะกรรมการ การจัดทำ Skills Matrix ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของประธานกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อยที่ทำหน้าที่สรรหา และสามารถจัดทำได้ตามขั้นตอนดังนี้

1. พิจารณากลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กร
พิจารณาว่าความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญอะไรของกรรมการที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ขององค์กรในปัจจุบัน และพิจารณาว่าคณะกรรมการที่จะช่วยนำองค์กรให้ดำเนินไปสู่เป้าหมายในระยะยาวได้ต้องมีหน้าตาอย่างไร โดยยังไม่ต้องคำนึงว่าคณะกรรมการในปัจจุบันมีทักษะเหล่านั้นแล้วหรือไม่

2. พิจารณาประเด็นความท้าทายของธุรกิจในปัจจุบัน
พิจารณาว่าทักษะหรือประสบการณ์ใดจะช่วยให้คณะกรรมการสามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายที่ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ได้ ตัวอย่างของปัญหาและความท้าทายที่อาจะพิจารณาในขั้นตอนนี้ เช่น สภาพการแข่งขันในระยะ
สั้นถึงกลาง กระแส Disruption ประเด็น ESG หรือสถานการณ์วิกฤต

3. พิจารณาประเด็นทางธุรกิจในอนาคต
มองทิศทางกลยุทธ์ขององค์กรในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร โดยควรมองประเด็นทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นทั้งในแง่บวกและแง่ลบ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางกลยุทธ์ การเปลี่ยน Business Model หรือการควบรวมธุรกิจ และพิจารณาว่าทักษะและความเชี่ยวชาญแบบไหนที่จะช่วยให้ตอบรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ทั้งสองด้าน

4. จัดลำดับทักษะที่สำคัญ
นำทักษะ ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญที่ได้จากขั้นตอน 1-3 มาจัดลำดับความสำคัญ โดยให้คะแนนว่าแต่ละทักษะจะส่งผลต่อโอกาสและความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์มากน้อยเพียงใด ลำดับจาก 3 = สูงสุด 2 = ปานกลาง 1 = น้อยสุด และ 0 = ไม่สำคัญ อาจใช้คำถามเหล่านี้เป็นเกณฑ์พิจารณา เช่น
• ทักษะนี้ถือว่า “Mission Critical” ต่อธุรกิจหรือไม่
• ทักษะนี้จะช่วยป้องกันความเสี่ยงสำคัญของธุรกิจหรือไม่
• ทักษะนี้จะช่วยให้ดำเนินตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายระยะยาวหรือไม่
• ทักษะนี้จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์หรือไม่
• ทักษะนี้ถือว่าเป็นทักษะเฉพาะที่หายากหรือไม่
• ทักษะนี้เป็นทักษะที่คณะกรรมการต้องการในระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว

5. เลือกทักษะสำคัญที่ควรมีในคณะกรรมการ
หลังจากจัดลำดับ พิจารณาว่าทักษะและประสบการณ์ใดที่ควรมีอยู่ในคณะกรรมการ โดยพิจารณาเทียบกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ผู้บริหารอาจมีอยู่แล้วและของที่ปรึกษาภายนอก ว่าเพียงพอแล้วและไม่จำเป็นต้องพัฒนาทักษะของกรรมการเดิมหรือสรรหากรรมการที่มีความเชี่ยวชาญนั้นเพิ่มหรือไม่ โดยในขั้นตอนนี้อาจหารือกับคณะกรรมการชุดย่อยที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงกรรมการทั้งคณะ เพื่อให้ได้มีโอกาสในการพิจารณาถึงทักษะที่ควรสรรหาและพัฒนาร่วมกัน

6. ประเมินทักษะที่คณะกรรมการมีอยู่ในปัจจุบันเทียบกับทักษะสำคัญที่ควรมี
ในขั้นตอนนี้ กรรมการสามารถประเมินทักษะที่คณะกรรมการมีอยู่ในปัจจุบันเทียบกับทักษะสำคัญที่ควรมีจากขั้นตอนที่แล้วโดยจัดทำเป็นตาราง Skills Matrix โดยใส่ทักษะสำคัญที่ควรมีไว้ในแถวแรกของตาราง และรายชื่อกรรมการปัจจุบันแต่ละคนในแถวต่อมา เพื่อประเมินว่าคณะกรรมการปัจจุบันยังขาดทักษะที่ควรมีอะไรบ้าง และหากพบว่าคณะกรรมการในชุดปัจจุบันยังขาดทักษะที่สำคัญบางอย่างหรือมีจำนวนกรรมการที่ยังไม่เพียงพอ ทางคณะกรรมการอาจพิจารณาเสริมได้ด้วยการพัฒนากรรมการเดิมให้มีทักษะนั้นๆ เพิ่มขึ้น (Director Development) หรือสรรหากรรมการใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการกรรมการที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Director Recruitment) ทั้งนี้แล้วแต่ดุลพินิจของคณะกรรมการ

ประธานกรรมการและคณะกรรมการสรรหาควรทบทวน Skills Matrix เป็นระยะอย่างน้อยทุกปีควบคู่ไปกับพิจารณาผลการประเมินผลงานคณะกรรมการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจัดทำเกณฑ์การสรรหากรรมการใหม่และพัฒนากรรมการปัจจุบัน รวมทั้งอาจจัดทำ Skills Matrix ฉบับย่อไว้สำหรับเปิดเผยข้อมูลองค์ประกอบของกรรมการสู่ผู้มีส่วนได้เสียทางรายงานประจำปี

 

ข้อมูลอ้างอิง
• สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (2560), หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560
• สมาคมส่งเสริมกรรมการบริษัทไทย (2562), ผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ปี 2562
• AICD (2013), “Six Steps Towards a Board Skills Matrix”
• Institutional Investor Services (2019), “U.S. Board Diversity Trends in 2019”
• OECD (2015), G20/OECD Principles of Corporate Governance 2015
• OECD (2019), OECD Corporate Governance Factbook 2019

 

จาร์รวี จีระมะกร
นักวิเคราะหฺ์ CG อาวุโส
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)

 



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand