ทิศทางและแนวโน้มการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reporting Trends to Watch)
ทิศทางและแนวโน้มการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reporting Trends to Watch)
ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การกำกับดูแลและบริหารจัดการธุรกิจให้อยู่รอดปลอดภัยและยั่งยืนจึงถือเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากขึ้น อีกทั้ง แม้สถานการณ์โดยรวมจะปกติ การตอบโจทย์ธุรกิจในปัจจุบันก็ไม่ใช่เป็นการสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่ยังครอบคลุมไปถึงการตอบโจทย์ต่อความต้องการของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรร่วมด้วย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เริ่มเข้ามามีบทบาทและมักจะคาดหวังให้องค์กรให้ความสำคัญกับผลการดำเนินงานที่ไม่ใช่ตัวเลขทางการเงิน ซึ่งครอบคลุมไปถึงปัจจัยทั้งทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ด้วยเหตุนี้ กระแสเรื่องความยั่งยืนจึงกลายมาเป็นวาระที่หลายองค์กรในภาคธุรกิจต่างให้ความสนใจตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยต่างตั้งเป้าหมายให้องค์กรไปสู่จุดที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า หากผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรได้รับประโยชน์หรือองค์กรได้ตอบรับกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียสำคัญได้อย่างเหมาะสมแล้ว องค์กรโดยรวมก็จะเติบโตและอยู่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น และเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับรู้ว่าบริษัทได้ให้ความสำคัญกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย บริษัทก็จะทำรายงานความยั่งยืนเพื่อแจ้งและรายงานถึงความคืบหน้าในการจัดการกับประเด็นความคาดหวังต่างๆ ซึ่งพัฒนาการและแนวโน้มการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Development Report) ขององค์กรธุรกิจในปัจจุบันเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่า การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนในปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นมาตรฐานในเชิงปฏิบัติอย่างหนึ่งของภาคธุรกิจไปแล้ว
ในปัจจุบันหน่วยงานระดับสากลได้ร่วมกันพัฒนากรอบการรายงานความยั่งยืนให้สามารถตอบสนองต่อความสนใจของผู้มีส่วนได้เสีย มีมาตรฐานเป็นแบบเดียวกัน และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่ง Global Reporting Initiative (GRI) ถือเป็นกรอบการรายงานความยั่งยืนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากมีตัวชี้วัดการรายงานที่เข้าใจง่าย ชัดเจน และไม่ซับซ้อน เหมาะกับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด และทุกอุตสาหกรรม โดยหากพิจารณาถึงตัวเลขบริษัทที่มีการพัฒนารายงานความยั่งยืนตามกรอบ GRI จากทั่วโลกตามผลสำรวจเมื่อปี 2018 พบว่า มีตัวเลขสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.1999-2016)
ส่วนข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า มีประเทศใดที่ให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนนั้น สามารถพิจารณาได้จากฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ในปี 2562 ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลกไว้ โดยระบุไว้ว่า ประเทศไทยมีตัวเลขของการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (อ้างอิงแต่ไม่ได้เป็นไปตามกรอบของ GRI) มากเป็นอันดับ 5 ของโลก ในขณะที่มีตัวเลขการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามกรอบแนวทางของ GRI อยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก
นอกจากนี้สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนไทยมีการจัดทำรายงานความรับผิดชอบทางสังคมเป็นอย่างไรนั้น สามารถพิจารณาได้จากผลสำรวจของโครงการ CGR ที่จัดทำโดย IOD ซึ่งจากการศึกษาผลสำรวจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า บริษัทจดทะเบียนไทยที่ทำการสำรวจเกือบ 100 % ของแต่ละปีที่ทำการสำรวจ (มากกว่า 99% ในแต่ละปี) ได้มีการจัดทำรายงานความรับผิดชอบทางสังคมแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทจดทะเบียนไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมาแล้วระยะหนึ่ง
ทั้งนี้หากพิจารณาว่า การจัดรายงานความรับผิดชอบทางสังคมของบริษัทจดทะเบียนไทยดังกล่าวนั้นเป็นการจัดทำตามกรอบ GRI หรือไม่ พบว่า แม้ตัวเลข % ของบริษัทจดทะเบียนที่จัดทำรายงานความรับผิดชอบทางสังคมตามกรอบ GRI ในช่วง 5 ที่ผ่านมา จะมีตัวเลขยังไม่ถึง 20% แต่ก็เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี
โดยสรุปแล้ว จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่สูงขึ้นของการจัดทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบของ GRI ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก แต่ถึงแม้การจัดทำรายงานความยั่งยืนจะมีมากขึ้น และเป็นเสมือนหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแสดงให้เห็นว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ สิ่งสำคัญที่ทุกธุรกิจควรตระหนักเกี่ยวกับการจัดทำรายงาน ก็คือ คุณค่าของการทำรายงานความยั่งยืนนั้นอยู่ที่กระบวนการของการได้มาซึ่งข้อมูล ไม่ใช่การได้มาซึ่งรูปเล่มรายงาน เพราะอย่าลืมว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงของการทำรายงานความยั่งยืนนั้น ก็เพื่อที่จะตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญและมีการดำเนินการอย่างไรกับความคาดหวังของกลุ่มคนดังกล่าว หาใช่เป็นการจัดให้มีเพื่อให้ครบตามเกณฑ์หรือมาตรฐานที่หน่วยงานต่างๆ กำหนดไว้
Reference
1) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (2562), ผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ปี 2015-2019
2) GRI Sustainability Disclosure Database (SDD)
วรัตนันท์ รัชมุสิกพัทธ์
นักวิเคราะห์ CG อาวุโส
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)
|