Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
ทิศทางและแนวโน้มการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reporting Trends to Watch)

ทิศทางและแนวโน้มการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reporting Trends to Watch)

ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การกำกับดูแลและบริหารจัดการธุรกิจให้อยู่รอดปลอดภัยและยั่งยืนจึงถือเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากขึ้น อีกทั้ง แม้สถานการณ์โดยรวมจะปกติ การตอบโจทย์ธุรกิจในปัจจุบันก็ไม่ใช่เป็นการสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่ยังครอบคลุมไปถึงการตอบโจทย์ต่อความต้องการของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรร่วมด้วย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เริ่มเข้ามามีบทบาทและมักจะคาดหวังให้องค์กรให้ความสำคัญกับผลการดำเนินงานที่ไม่ใช่ตัวเลขทางการเงิน ซึ่งครอบคลุมไปถึงปัจจัยทั้งทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ด้วยเหตุนี้ กระแสเรื่องความยั่งยืนจึงกลายมาเป็นวาระที่หลายองค์กรในภาคธุรกิจต่างให้ความสนใจตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยต่างตั้งเป้าหมายให้องค์กรไปสู่จุดที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า หากผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรได้รับประโยชน์หรือองค์กรได้ตอบรับกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียสำคัญได้อย่างเหมาะสมแล้ว องค์กรโดยรวมก็จะเติบโตและอยู่ได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น และเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับรู้ว่าบริษัทได้ให้ความสำคัญกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย บริษัทก็จะทำรายงานความยั่งยืนเพื่อแจ้งและรายงานถึงความคืบหน้าในการจัดการกับประเด็นความคาดหวังต่างๆ ซึ่งพัฒนาการและแนวโน้มการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Development Report) ขององค์กรธุรกิจในปัจจุบันเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่า การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนในปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นมาตรฐานในเชิงปฏิบัติอย่างหนึ่งของภาคธุรกิจไปแล้ว

ในปัจจุบันหน่วยงานระดับสากลได้ร่วมกันพัฒนากรอบการรายงานความยั่งยืนให้สามารถตอบสนองต่อความสนใจของผู้มีส่วนได้เสีย มีมาตรฐานเป็นแบบเดียวกัน และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่ง Global Reporting Initiative (GRI) ถือเป็นกรอบการรายงานความยั่งยืนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากมีตัวชี้วัดการรายงานที่เข้าใจง่าย ชัดเจน และไม่ซับซ้อน เหมาะกับองค์กรทุกประเภท ทุกขนาด และทุกอุตสาหกรรม โดยหากพิจารณาถึงตัวเลขบริษัทที่มีการพัฒนารายงานความยั่งยืนตามกรอบ GRI จากทั่วโลกตามผลสำรวจเมื่อปี 2018 พบว่า มีตัวเลขสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.1999-2016)




ส่วนข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า มีประเทศใดที่ให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนนั้น สามารถพิจารณาได้จากฐานข้อมูล GRI Sustainability Disclosure Database (SDD) ในปี 2562 ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลรายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการทั่วโลกไว้ โดยระบุไว้ว่า ประเทศไทยมีตัวเลขของการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่อ้างอิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (อ้างอิงแต่ไม่ได้เป็นไปตามกรอบของ GRI) มากเป็นอันดับ 5 ของโลก ในขณะที่มีตัวเลขการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบของรายงานด้านความยั่งยืนที่จัดทำตามกรอบแนวทางของ GRI อยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก

นอกจากนี้สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนไทยมีการจัดทำรายงานความรับผิดชอบทางสังคมเป็นอย่างไรนั้น สามารถพิจารณาได้จากผลสำรวจของโครงการ CGR ที่จัดทำโดย IOD ซึ่งจากการศึกษาผลสำรวจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า บริษัทจดทะเบียนไทยที่ทำการสำรวจเกือบ 100 % ของแต่ละปีที่ทำการสำรวจ (มากกว่า 99% ในแต่ละปี) ได้มีการจัดทำรายงานความรับผิดชอบทางสังคมแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทจดทะเบียนไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมาแล้วระยะหนึ่ง


ทั้งนี้หากพิจารณาว่า การจัดรายงานความรับผิดชอบทางสังคมของบริษัทจดทะเบียนไทยดังกล่าวนั้นเป็นการจัดทำตามกรอบ GRI หรือไม่ พบว่า แม้ตัวเลข % ของบริษัทจดทะเบียนที่จัดทำรายงานความรับผิดชอบทางสังคมตามกรอบ GRI ในช่วง 5 ที่ผ่านมา จะมีตัวเลขยังไม่ถึง 20% แต่ก็เห็นถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี

 

โดยสรุปแล้ว จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่สูงขึ้นของการจัดทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบของ GRI ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก แต่ถึงแม้การจัดทำรายงานความยั่งยืนจะมีมากขึ้น และเป็นเสมือนหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแสดงให้เห็นว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ สิ่งสำคัญที่ทุกธุรกิจควรตระหนักเกี่ยวกับการจัดทำรายงาน ก็คือ คุณค่าของการทำรายงานความยั่งยืนนั้นอยู่ที่กระบวนการของการได้มาซึ่งข้อมูล ไม่ใช่การได้มาซึ่งรูปเล่มรายงาน เพราะอย่าลืมว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงของการทำรายงานความยั่งยืนนั้น ก็เพื่อที่จะตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญและมีการดำเนินการอย่างไรกับความคาดหวังของกลุ่มคนดังกล่าว หาใช่เป็นการจัดให้มีเพื่อให้ครบตามเกณฑ์หรือมาตรฐานที่หน่วยงานต่างๆ กำหนดไว้

Reference
1) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (2562), ผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ปี 2015-2019
2) GRI Sustainability Disclosure Database (SDD)

วรัตนันท์ รัชมุสิกพัทธ์
นักวิเคราะห์ CG อาวุโส
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand