ผลประเมิน CGR ปี 2563 ยกระดับ CG บริษัทจดทะเบียนไทย
ผลประเมิน CGR ปี 2563 ยกระดับ CG บริษัทจดทะเบียนไทยเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานนำเสนอผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยประจำปี 2563 (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2020) ซึ่งในงานดังกล่าว คุณศิรินันท์ กิตติเวทางค์ รองกรรมการผู้อำนวยการของ IOD ได้นำเสนอผลสำรวจ CGR ประจำปี 2563 พบว่า จากการสำรวจบริษัทจดทะเบียน ทั้งหมด 692 บริษัท คะแนนเฉลี่ยด้านการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทย อยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 83 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการประเมิน CGR ในปี 2544 แสดงให้เห็นว่า บริษัทจดทะเบียนไทยให้ความสำคัญในการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการของบริษัทเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงบทบาทต่อผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม รวมถึงมีการปรับบทบาทและภาวะผู้นำของคณะกรรมการในการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและบุคลากรเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักการใน CG Code และสอดคล้องกับความคาดหวังและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
หากพิจารณาคะแนนเฉลี่ยรายหมวดของผลสำรวจในปี 2563 พบว่าหมวดที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปมี 4 หมวด ได้แก่ หมวดสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส และการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 94, 94, 87 และ 83 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนหมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ แม้จะยังได้รับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 76 เปอร์เซ็นต์ แต่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี
เมื่อเปรียบเทียบจำนวนบริษัทตามผลการสำรวจที่ได้รับในแต่ละระดับ ซึ่งมีการประกาศผลตามจำนวนสัญลักษณ์ของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ ก็พบว่า 616 บริษัท หรือ 89 เปอร์เซ็นต์ ของบริษัทจดทะเบียนที่ทำการสำรวจในปีนี้ มีคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หรือระดับดีขึ้นไป โดยแบ่งเป็นบริษัทที่ได้รับคะแนน 70-79 เปอร์เซ็นต์ (สามดาว) 130 บริษัท คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ บริษัทที่ได้รับคะแนน 80-89 เปอร์เซ็นต์ (สี่ดาว) 246 บริษัท คิดเป็น 36 เปอร์เซ็นต์ และบริษัทที่ได้รับคะแนน 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป (ห้าดาว) 240 บริษัท คิดเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ ของบริษัทที่ทำการสำรวจ ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนที่ได้ห้าดาว เพิ่มขึ้นจาก 193 บริษัท ในปี 2562 เป็น 240 บริษัท ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 47 บริษัท คิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นบริษัทในกลุ่มที่มี Market Cap. ตั้งแต่ 10,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 102 บริษัท และกลุ่มที่มี Market Cap. 3,000-9,999 และ 1,000-2,999 และ ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทจำนวน 57 และ 52 และ 29 บริษัทตามลำดับ
นอกจากนี้ในงานคุณศิรินันท์ กิตติเวทางค์ ยังได้กล่าวถึงแผนงานปรับปรุงหลักเกณฑ์ CGR ทั้งในส่วนของหลักเกณฑ์การประเมินและแนวทางพิจารณาให้คะแนน โดยแต่ละหมวดจะสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน มีความชัดเจนในการนำไปปฏิบัติ ยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนไทยไปสู่ ESG และสามารถเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล รวมถึงต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและความคาดหวังต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระยะหลัง เพื่อเป้าหมายในการเปิดโอกาสและเตรียมความพร้อมบริษัทจดทะเบียนไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขัน เป็นที่ยอมรับในด้านการกำกับดูแลกิจการเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญยังช่วยพัฒนาคุณภาพของตลาดทุนไทยในสายตาของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้ในระยะยาวต่อไป
“การกำกับดูแลกิจการในปัจจุบันมีความท้าทายในบริบทที่เปลี่ยนไป แนวโน้มการให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เกณฑ์ CGR มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของบริษัทจดทะเบียนเพื่อเข้าใจหลักเกณฑ์ของ CGR ที่จะมีการปรับปรุงใหม่ให้มีความทันสมัย และครอบคลุมเรื่อง ESG เพื่อสะท้อนการกำกับดูแลกิจการในมิติด้านความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นบทบาทของ IOD ในการสนับสนุนการพัฒนาองค์กรเพื่อความยั่งยืน” นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าว
มณี มณีแสง
ผู้เชี่ยวชาญการวิจัย
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
|