สรุปผลสำรวจค่าตอบแทนกรรมการ ปี 2563
สรุปผลสำรวจค่าตอบแทนกรรมการ ปี 2563
(Summary of Director Compensation Survey 2020)
สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้จัดทำโครงการสำรวจค่าตอบแทนกรรมการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ขึ้นในปี 2563 โดยมีบริษัทจดทะเบียนฯ สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ทั้งสิ้น 290 บริษัท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งหมด โดยสามารถสรุปผลสำรวจค่าตอบแทนกรรมการ ปี 2563 ได้ดังนี้
1. บริษัทส่วนใหญ่มีการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการในรูปแบบที่เป็นตัวเงิน ได้แก่ เบี้ยประชุม (ร้อยละ 87) ค่าตอบแทนประจำ (ร้อยละ 73) และโบนัส (ร้อยละ 56) โดยที่รูปแบบค่าตอบแทนกรรมการที่บริษัทส่วนใหญ่จ่ายมากที่สุด คือ ค่าตอบแทนประจำ เบี้ยประชุม และโบนัส รวมกัน คิดเป็นร้อยละ 34 ในขณะที่การจ่ายค่าตอบแทนกรรมการที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น หุ้นบริษัท และใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้น (Warrant) มีการจ่ายให้แก่กรรมการเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
แผนภูมิที่ 1 รูปแบบของค่าตอบแทนกรรมการ (% ของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ)
2. ค่าตอบแทนกรรมการโดยเฉลี่ยของประธานกรรมการ (เฉพาะค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน) เท่ากับ 1,220,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่ากรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร และกรรมการที่เป็นผู้บริหารอยู่ร้อยละ 65 และ ร้อยละ 77 ตามลำดับ
3. ค่ามัธยฐานของค่าตอบแทนประจำของประธานกรรมการ เท่ากับ 50,000 บาทต่อคนต่อเดือน สูงกว่ากรรมการที่เป็นผู้บริหารและกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารประมาณ 1.8 เท่า
4. ค่ามัธยฐานของเบี้ยประชุมของประธานกรรมการ เท่ากับ 25,000 บาทต่อคนต่อครั้ง สูงกว่าเบี้ยประชุมของกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร ประมาณ 1.25 เท่า และกรรมการที่เป็นผู้บริหาร ประมาณ 1.39 เท่า
5. ค่ามัธยฐานของโบนัสของประธานกรรมการ เท่ากับ 470,000 บาทต่อคนต่อปี โดยกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารและกรรมการที่เป็นผู้บริหาร จะได้โบนัส 300,000 บาทต่อคนต่อปี และ 263,000 บาทต่อคนต่อปี ตามลำดับ
6. คณะกรรมการชุดย่อยจะได้รับเฉพาะค่าตอบแทนในรูปแบบที่เป็นตัวเงินเท่านั้น ได้แก่ ค่าตอบแทนประจำ เบี้ยประชุม และโบนัส โดยส่วนใหญ่จะได้ในรูปแบบเบี้ยประชุม ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการชุดย่อยจะได้รับค่าตอบแทนสูงกว่ากรรมการในชุดนั้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าตอบแทนกรรมการเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ผลสำรวจ พบว่า บริษัทส่วนใหญ่มีการให้ค่าตอบแทนกรรมการเท่ากับปี 2562 ในขณะที่ร้อยละ 12 ของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ มีการปรับจำนวนค่าตอบแทนทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยบริษัทที่มีการปรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น จะพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของกรรมการ รวมถึงการเทียบเคียงค่าตอบแทนกรรมการกับบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันและมีรายได้ใกล้เคียงกัน ขณะที่บริษัทที่มีการปรับลดค่าตอบแทนกรรมการลง ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) และมีผลประกอบการขาดทุนในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการที่เหมาะสม คณะกรรมการควรพิจารณาข้อมูลทั้งในเรื่องรูปแบบ และจำนวนเงินค่าตอบแทนกรรมการ โดยเทียบเคียงกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน และกลุ่มบริษัทที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน เพื่อให้สามารถกำหนดค่าตอบแทนกรรมการได้อย่างเหมาะสม โดยรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และสามารถจูงใจ รวมถึงรักษากรรมการที่มีความสามารถให้ปฏิบัติงานให้กับบริษัทได้ต่อไป
ศิริพร วงศ์เขียว
นักวิเคราะห์ CG อาวุโส
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)
|