แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการในการกำกับดูแลมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน
การคอร์รัปชัน (Corruption) เป็นปัญหาที่ปรากฏอยู่ทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆจำนวนมากที่เอื้อให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น อำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจ ระบบที่เอื้อต่อการใช้ดุลยพินิจ ฯลฯ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และบั่นทอนการเจริญเติบโตของประเทศเหล่านั้นในทุกมิติ
สำหรับประเทศไทย นอกจากการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชันหลายองค์กร อีกทั้งยังมีตัวบทกฎหมายมากมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดแล้วนั้น ความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคม ตลอดจนภาคธุรกิจเอกชนยังถือเป็นส่วนสำคัญเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเช่นกัน ดังเห็นได้จากเกิดขึ้นขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และการจัดตั้งโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC)
การจัดตั้งโครงการฯดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนควรต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข ซึ่งถ้าให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งดำเนินการโดยลำพังก็คงบรรลุผลได้ยาก ดังนั้น คณะกรรมการบริษัท จึงควรมีความตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับการเข้าเป็น “แนวร่วม” (Collective Action) เพื่อแสดงจุดยืนขององค์กร และสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียว่าบริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ซึ่งมิใช่แค่เพียงเพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสของกิจการเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกมาตรฐานการทำธุรกิจของภาคเอกชนไทยในอีกทางหนึ่งด้วย
“แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการในการกำกับดูแลมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน” จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนอเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. หลักการสำคัญ (Key Principles) และ 2. แนวปฏิบัติ (Guidelines)
หลักการสำคัญ (Key Principles) ของแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ ประกอบด้วย
1. คณะกรรมการพึงมีความตระหนักรู้ และเข้าใจถึงบริบทของปัญหาคอร์รัปชัน ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อกิจการ ภาคธุรกิจ และสังคมโดยรวม เพื่อผลักดันให้กิจการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม
2. คณะกรรมการควรแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบ (Zero Tolerance)
3. คณะกรรมการมีบทบาทในการกำกับดูแลมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันของกิจการในภาพรวม โดยกำหนดกรอบการดำเนินงาน พร้อมมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบแก่ฝ่ายจัดการตามความเหมาะสม
4. คณะกรรมการพึงมีความเข้าใจในความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันที่สำคัญของกิจการ โดยควรกำหนดให้ฝ่ายจัดการทำการระบุและประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน พร้อมรายงานให้คณะกรรมการทราบเป็นประจำทุกปี
5. คณะกรรมการมีหน้าที่พิจารณาอนุมัตินโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน พร้อมทบทวนนโยบายดังกล่าวตามความเหมาะสมเพื่อให้สอดรับกับความเสี่ยงของกิจการ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ
6. คณะกรรมการพึงมอบหมายให้ฝ่ายจัดการจัดทำขั้นตอนหรือแนวปฏิบัติที่สอดรับกับนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน โดยควรมีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอสำหรับบุคลากรในแต่ละส่วนงาน สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม
7. คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่ากิจการมีมาตรการควบคุมภายใน (Internal Control) ที่เพียงพอและเหมาะสมเพื่อป้องกันการคอร์รัปชัน อาทิเช่น
7.1 การจัดให้มีคู่มือจริยธรรมธุรกิจ (Code of Conduct) อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
7.2 การจัดให้มีกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลที่สอดรับกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน ตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากร การปฐมนิเทศและฝึกอบรม การประเมินผลงาน การจ่ายค่าตอบแทน การเลื่อนตำแหน่ง ตลอดจนการจัดโครงสร้างองค์กรที่มีการแบ่งแยกหน้าที่อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุล
7.3 การจัดให้มีการสื่อสารนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ทั้งภายในและภายนอกกิจการ
7.4 จัดให้มีระบบทางบัญชี การเงิน และการเก็บบันทึกข้อมูลที่เพียงพอต่อการตรวจสอบเพื่อยืนยันความถูกต้อง ตลอดจนการกำหนดอำนาจอนุมัติรายการธุรกิจที่ชัดเจน รัดกุม โปร่งใส และตรวจสอบได้
7.5 การจัดให้มีการกระบวนการตรวจสอบประวัติ / สถานะของคู่ค้าหรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับกิจการ
7.6 การกำหนดขั้นตอนปฏิบัติและกระบวนการควบคุมที่รัดกุม และเฉพาะเจาะจงในธุรกรรมต่างๆที่ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันค่อนข้างสูง
7.7 การจัดให้มีการตรวจสอบทั้งภายในและภายนอกที่ครอบคลุมกิจกรรมสำคัญต่างๆของกิจการ โดยหน่วยงานที่เป็นอิสระ
7.8 การจัดให้มีช่องทางที่ปลอดภัยสำหรับบุคลากรและผู้มีส่วนได้เสียในการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน เมื่อพบเหตุคอร์รัปชัน (Whistleblowing) โดยมีแนวทางการสอบสวนข้อเท็จจริง และมาตรการคุ้มครองบุคคลผู้แจ้งเบาะแสอย่างเหมาะสม
7.9 การกำหนดบทลงโทษทางวินัยต่อผู้ที่ฝ่าฝืนการปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน อันครอบคลุมไปถึงพนักงาน ตลอดจนบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับกิจการ เช่น ตัวแทน ตัวกลาง คู่ค้า เป็นต้น
8. คณะกรรมการพึงดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการตรวจสอบในการติดตามดูแลผลการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการควบคุมต่างๆมีความเหมาะสมและถูกนำไปปฏิบัติจริง
9. คณะกรรมการควรส่งเสริมให้กิจการเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (Change Agent) โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆเพื่อแลกเปลี่ยน เผยแพร่ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีกับบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกัน ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างแนวร่วมฯที่เข้มแข็งในการต่อต้านคอร์รัปชันต่อไป
ทั้งนี้ สาระสำคัญในส่วนของแนวปฏิบัติ (Guidelines) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์ด้านล่าง
|