แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการ ในการกำกับดูแลวัฒนธรรมองค์กร
วัฒนธรรมองค์กร หรือ Organizational Culture ถือเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ วัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งสะท้อนผ่านทัศนคติ รูปแบบการดำเนินงาน และสื่อสารผ่านความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย
การมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าขององค์กร เนื่องจากมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจไปสู่เป้าหมายขององค์กรที่สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาว เช่น บางกรณีที่บริษัทต้องการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจเพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ หากบริษัทไม่มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งรองรับและสนับสนุน การปรับเปลี่ยนดังกล่าวอาจมีอุปสรรคหรือไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากบุคลากรไม่มีแรงบันดาลใจในการปฏิบัติตาม หรือในบางกรณีที่บริษัทมีการสร้างค่านิยมในการปฏิบัติตามจริยธรรมและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด ก็จะทำให้บุคลากรในทุกส่วนงานของบริษัทดำเนินงานอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ วัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งย่อมทำให้พนักงานมีความภาคภูมิใจ มีความจงรักภักดีและไว้วางใจองค์กร และจะเป็นแรงจูงใจสำคัญในการดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถให้เข้ามาร่วมงาน
“แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการในการกำกับดูแลวัฒนธรรมองค์กร” มุ่งเน้นบทบาทของคณะกรรมการเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรใน สามส่วน คือ ความเข้าใจและการให้ความสำคัญ การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง และการกำกับดูแลเพื่อพัฒนาและรักษาวัฒนธรรมองค์กรในเชิงบวก เพื่อให้การดำเนินธุรกิจขององค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำเสนอเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. หลักการสำคัญ (Key Principles) และ 2. แนวปฏิบัติ (Guidelines)
หลักการสำคัญ (Key Principles) ของแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ ประกอบด้วย
1. คณะกรรมการควรให้ความสำคัญวัฒนธรรมองค์กร (Organizational culture) ว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างพฤติกรรมของพนักงานและสะท้อนออกมาเป็นภาพลักษณ์ขององค์กร วัฒนธรรมองค์กรพัฒนามาจากความเชื่อในคุณค่าที่พนักงานยึดถือและปฏิบัติมาอย่างยาวนาน จนเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติภายในองค์กร
2. คณะกรรมการควรร่วมกับฝ่ายจัดการกำหนดค่านิยมองค์กร (Organizational values) เพื่อเป็นทิศทางให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรตามที่คาดหวัง ซึ่งควรประกอบด้วยวัฒนธรรมทางด้านการดำเนินงานและวัฒนธรรมทางด้านจริยธรรม พร้อมกับสื่อสารให้ทราบโดยทั่วถึงกันทั้งภายในและภายนอกองค์กร
3. คณะกรรมการควรสร้างวัฒนธรรมของคณะกรรมการ (Boardroom culture) เพื่อแสดงค่านิยมร่วมกันของกรรมการ ในด้านพฤติกรรม ทัศนคติ และวิธีการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายจัดการ
4. คณะกรรมการควรสนับสนุนวัฒนธรรมองค์กรโดยประพฤติตนเป็นแบบอย่างและกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการมีกลไกในการพัฒนาและติดตามวัฒนธรรมองค์กร
5. คณะกรรมการควรกำหนดให้มีการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมหรือจรรยาบรรณธุรกิจขององค์กรเป็นลายลักษณ์อักษร และติดตามดูแลให้มั่นใจว่า องค์กรมีกระบวนการในการดำเนินงานที่เป็นไปตามจริยธรรม จรรยาบรรณธุรกิจและไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
6. คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่าระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ รูปแบบธุรกิจ และวัฒนธรรมองค์กร และมีแรงจูงใจที่เหมาะสมทั้งในรูปแบบทางการเงินและไม่ใช่การเงิน
7. คณะกรรมการควรดูแลให้มีช่องทางในการเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสม่ำเสมอเพื่อทราบประเด็นปัญหาซึ่งอาจมีผลกระทบต่อองค์กร รวมทั้งกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างทันท่วงที
8. คณะกรรมการควรดูแลให้องค์กรมีตัวชี้วัดด้านวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมกับธุรกิจและบริบทแวดล้อม เพื่อประเมินคุณภาพ ทิศทาง ความเสี่ยง และปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นและผลกระทบต่อเป้าหมายขององค์กร
9. คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่า ตัวชี้วัดที่มีอยู่สามารถแสดงให้เห็นถึงสัญญาณบ่งชี้ปัญหาด้านวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล เพื่อนำมาบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งควรทบทวนและประเมินเป็นประจำ ตลอดจนสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์แวดล้อม และติดตามแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สาระสำคัญในส่วนของแนวปฏิบัติ (Guidelines) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์ด้านล่าง
|