Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับประธานกรรมการ

การดำรงตำแหน่ง “ประธานกรรมการ” (Chairman of the Board) ถือเป็นความท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งในงานด้านการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตำแหน่งดังกล่าวจึงมีความสำคัญ และด้วยเหตุที่ประธานกรรมการคือบุคคลที่ได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากกรรมการทั้งคณะให้เป็น “ผู้นำ” ในการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของบริษัท ประธานกรรมการจึงนับว่ามีอิทธิพลค่อนข้างมากต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการและทิศทางขององค์กร


โดยหลักการแล้ว แม้ประธานกรรมการจะมีสถานะเป็น “ผู้นำ” ของคณะกรรมการบริษัท แต่ก็มิได้มีอำนาจเหนือกรรมการท่านอื่น ๆ แต่อย่างใด (The first among equals) เนื่องจากบทบาทของประธานกรรมการเกิดขึ้นจากการตกลงร่วมกันของกรรมการทั้งคณะให้ทำหน้าที่เสมือน “ตัวกลาง” เชื่อมโยงระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายจัดการ เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งสองฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ประธานกรรมการยังมีหน้าที่สำคัญในการนำและดำเนินการอภิปรายในที่ประชุมคณะกรรมการ โดยมิใช่มุ่งหวังแค่เพียงฉันทามติเท่านั้น แต่ยังต้องได้มาซึ่งการตัดสินใจของคณะกรรมการที่มีคุณภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ด้วย

งานของประธานกรรมการจึงต้องอาศัยทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ดังนั้น บุคคลที่คณะกรรมการจะเลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าว นอกจากจะต้องมีความรู้ ความสามารถ (Competency) เป็นที่ประจักษ์แล้ว คณะกรรมการยังควรคำนึงถึงบุคลิกภาพ (Personality) และอุปนิสัยที่เหมาะสมร่วมด้วย เช่น การมีทัศนคติที่ดี มีภาวะผู้นำ มีปฏิภาณไหวพริบ เด็ดเดี่ยว เที่ยงธรรม และมีความแน่วแน่ด้วยจิตสำนึกที่จะทำเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร เป็นต้น

ด้วยภาระหน้าที่และความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่งของประธานกรรมการในปัจจุบัน “แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับประธานกรรมการ” จึงถูกพัฒนาขึ้นผ่านการประสานความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ ในตลาดทุนไทย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนอเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. หลักการสำคัญ (Key Principles) และ 2. แนวปฏิบัติ (Guidelines)

หลักการสำคัญ (Key Principles) ของแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ ประกอบด้วย

1. คณะกรรมการมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแต่งตั้งกรรมการที่เหมาะสมท่านหนึ่งเป็นประธานกรรมการ (Chairman) เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำของคณะกรรมการในการกำกับดูแลการบริหารงานของฝ่ายจัดการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

2. คณะกรรมการพึงแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติของความเป็นผู้นำ (Leadership) วิสัยทัศน์ ความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ การประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และความสามารถอุทิศเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม

3. คณะกรรมการควรแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) อย่างชัดเจน เนื่องจากทั้งสองตำแหน่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบแตกต่างกัน

4. คณะกรรมการควรแต่งตั้งประธานกรรมการ โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระ (Independence) จากฝ่ายจัดการ เพื่อเอื้อให้คณะกรรมการสามารถใช้ดุลยพินิจและทำหน้าที่ติดตามดูแลการบริหารงานของฝ่ายจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. คณะกรรมการควรส่งเสริมให้เกิดกลไกในการถ่วงดุลอำนาจระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายจัดการ ในกรณีที่ประธานกรรมการขาดความเป็นอิสระ หรือตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ไม่ได้แยกจากกันอย่างชัดเจน

6. ประธานกรรมการมีหน้าที่ตามกฎหมายในการเป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการ เป็นประธานการประชุม พร้อมนำการอภิปรายจนบรรลุมติร่วมกัน โดยในการทำหน้าที่ดังกล่าว ประธานกรรมการพึงดำเนินการให้ครอบคลุมถึงเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

6.1 กำหนดวาระการประชุมคณะกรรมการโดยหารือร่วมกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ และมีมาตรการที่ดูแลให้เรื่องสำคัญได้ถูกบรรจุเป็นวาระการประชุม
6.2 จัดสรรเวลาอย่างเพียงพอที่ฝ่ายจัดการจะเสนอเรื่อง และมากพอที่กรรมการจะอภิปรายประเด็นสำคัญกันอย่างรอบคอบโดยทั่วกัน
6.3 ส่งเสริมให้กรรมการมีการใช้ดุลยพินิจและแสดงความเห็นได้อย่างเป็นอิสระ

7. นอกจากหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว คณะกรรมการควรกำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของประธานกรรมการที่ต้องดำเนินงานร่วมกับคณะกรรมการในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

7.1 ติดตามดูแลให้การดำเนินงานของคณะกรรมการที่มีประสิทธิภาพ และบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักขององค์กร
7.1.1 ส่งเสริมให้กรรมการทุกท่านมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่มีจริยธรรมและดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
7.1.2 กำหนดขอบเขตของบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายจัดการให้มีความชัดเจน
7.1.3 กำหนดเป้าหมายระยะยาวขององค์กร รวมถึงพิจารณาจัดสรรทรัพยากร บริหารความเสี่ยง และดำเนินกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น
7.1.4 กำหนดขนาด องค์ประกอบ และโครงสร้างของคณะกรรมการให้มีความเหมาะสม และหลากหลาย
7.1.5 พิจารณาความเหมาะสมของการจัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อยต่าง ๆ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของคณะกรรมการชุดใหญ่
7.1.6 จัดให้มีกระบวนการปฐมนิเทศกรรมการใหม่ และดำเนินการให้มั่นใจว่ากรรมการได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง
7.1.7 จัดให้มีกระบวนการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย กรรมการรายบุคคล และกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมสนับสนุนให้กรรมการทุกท่านแสวงหาแนวทางพัฒนาปรับปรุงการทำหน้าที่ของตนอย่างต่อเนื่อง

7.2 สนับสนุนให้เกิดการประสานความร่วมมือกันระหว่างคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ และเลขานุการบริษัท เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
7.2.1 ทำงานร่วมกับกรรมการผู้จัดการใหญ่อย่างใกล้ชิด รวมถึงเป็นตัวแทนของคณะกรรมการในการให้คำแนะนำและติดตามดูแลการบริหารงานของกรรมการผู้จัดการใหญ่ในเรื่องต่าง ๆ
7.2.2 เป็นตัวแทนของคณะกรรมการในการทำงานร่วมกับเลขานุการบริษัทในฐานะที่เป็นผู้ดูแล ให้ข้อเสนอแนะ และสนับสนุนกระบวนการทำงานในด้านต่าง ๆ ของคณะกรรมการ
7.2.3 ติดต่อสื่อสารและติดตามการทำงานของกรรมการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรรมการ

7.3 เป็นตัวแทนของคณะกรรมการในการสื่อสารข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ขององค์กร รวมถึงสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้ถือหุ้น และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ
7.3.1 ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมผู้ถือหุ้น และควรจัดสรรเวลาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ซักถามในประเด็นต่าง ๆ อย่างเพียงพอ
7.3.2 สื่อสารข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ร่วมกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปยังพนักงาน นักลงทุน สื่อมวลชน นักวิเคราะห์ และกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

8. คณะกรรมการพึงพิจารณาค่าตอบแทนของประธานกรรมการ (Chairman’s remuneration) ให้มีความเหมาะสมกับหน้าที่ ความรับผิดชอบ อยู่ในระดับที่เทียบเคียงได้กับอุตสาหกรรม และมากพอที่จะจูงใจให้ประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มความสามารถ

9. คณะกรรมการควรร่วมกันวางแผนและกำหนดกระบวนการสืบทอดตำแหน่งประธานกรรมการ (Chairman succession) เพื่อให้มั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านของตำแหน่งดังกล่าวมีความต่อเนื่องและเป็นไปอย่างราบรื่น

ทั้งนี้ สาระสำคัญในส่วนของแนวปฏิบัติ (Guidelines) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

 

 



Best Practices Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand