Putting Purpose Into Practice: The Boards Role
Putting Purpose Into Practice: The Board’s Role
แนวคิดในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันที่ไม่ได้มุ่งไปที่การสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นแต่อย่างเดียว หากยังต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ภายใต้การดำเนินธุรกิจด้วยหลัก ESG ที่นำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ สิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลมาเป็นประเด็นหลักในการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร อย่างไรก็ดี การนำประเด็นด้าน ESG มาผนวกเป็นกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนองค์กรมักประสบความสำเร็จอย่างไม่เต็มที่นัก เนื่องจากการขาดความเชื่อมโยงกับคนในองค์กร ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงได้เกิดแนวคิดที่องค์กรภาคเอกชนต่าง ๆ ได้มีการกำหนด Purpose องค์กรออกมาเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ทำไมผู้นำบริษัทชั้นนำถึงให้ความสนใจกับ Purpose ในเมื่อองค์กรต่างมีการกำหนด Vision (วิสัยทัศน์) Mission (พันธกิจ) และ Value (ค่านิยม) เพื่อเป็นหลักยึดในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว การมีอยู่ของ Purpose จะซ้ำซ้อน หรือมีข้อแตกต่างอย่างไร และหากเมื่อกำหนด Purpose ออกมาแล้ว จะสามารถต่อยอดเพื่อนำแนวทางไปใช้สร้างคุณค่าทั้งต่อองค์กร และสังคมอย่างไร
จากคำถามที่ว่า Purpose สำหรับองค์กรนั้นหมายถึงอะไร ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาจากหลายแหล่งถึงคำนิยามของคำนี้ ซึ่งสามารถสรุปใจความได้ว่า Purpose คือ สาเหตุของการดำรงอยู่ (Why the organization exists) และเมื่อบรรดานักลงทุนสถาบันระดับโลกได้เรียกร้องให้บริษัทมีการกำหนด Purpose ออกมาให้ชัดเจน อีกทั้งยังมีการลงนามให้คำมั่นจาก CEO บริษัทชั้นนำในยุโรปและอเมริกาจากบริษัท 181 แห่งในเรื่องดังกล่าว ทำให้การกำหนด Purpose ของ องค์กรได้กลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญของกรรมการ แต่ก็ดูเหมือนว่าแนวทางในการนำ Purpose ที่เป็นหัวใจหลักที่สำคัญขององค์กรไปเชื่อมโยงต่อ ทั้งการนำมาใช้เป็นแกนในการตัดสินใจ ตลอดจนเป็นตัวกำหนดค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์องค์กร กลับไม่ได้มีการกล่าวถึงมากนัก จนเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา Enacting Purpose Initiative (EPI) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสถาบันการศึกษาชั้นนำและหน่วยงานภาคเอกชนได้ออกรายงานสำหรับกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง และนักลงทุนเพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรในการกำหนดแนวทางในการนำไปปฏิบัติและรายงานถึง Purpose องค์กร
ประเด็นที่ EPI ได้ให้ความสำคัญ คือ การให้ความชัดเจนในด้านความแตกต่างของ Purpose - Why the organization exists และคำอื่นๆที่ใช้กัน ที่ทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย นั่นก็คือ values mission และ vision
Purpose เป็นจุดตั้งต้นที่มาว่าทำไมบริษัทถึงได้เข้ามาประกอบการหรือดำเนินธุรกิจ ประเด็นในด้านใดที่องค์กรตั้งมาเพื่อทำให้เกิดขึ้น – Why an organization exists
Value ใช้เพื่อสะท้อนถึง พฤติกรรมหรือแนวทางประพฤติของคนในองค์กร โดยมักมีการกำหนดในรูปแบบคำที่สั้นๆ จำง่ายและเข้าใจง่ายสะท้อนถึงพฤติกรรมที่องค์กรต้องการ-How an organization behave
Mission ใช้เพื่อบอกถึงสิ่งที่องค์กรทำ โดยนำไปเชื่อมโยงกับกลยุทธ์องค์กร และมีค่านิยมองค์กรมาช่วยเสริมเพื่อให้สามารถบรรลุพันธกิจองค์กรได้ โดยสรุปแล้ว การกำหนดพันธกิจจะเป็นการสื่อสารด้วยการบรรยายถึงสิ่งที่องค์กรจะสามารถดำเนินการเพื่อให้บรรลุ Purpose ขององค์กรได้ – What the organization does
Vision กำหนดเพื่ออธิบายถึงเป้าหมายที่องค์กรต้องการสร้างให้เกิดขึ้น กล่าวคือเป็นการกำหนดถึงผลแห่งความสำเร็จที่องค์กรต้องสร้างให้เกิดขึ้นจาก Purpose ที่ตั้งไว้ โดยทั่วไป การกำหนดวิสัยทัศน์มักเป็นเป้าหมายใหญ่และเป็นเป้าหมายในระยะยาว – Where the organization intends to have impact
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้นำองค์กรมีแนวทางในการติดตามดูแล Purpose ขององค์กรที่ได้กำหนดไว้ EPI จึงได้มีการออกแบบกรอบโครงสร้างเพื่อเป็นแนวทางในการกำกับดูแลให้ Purpose ที่วางไว้สามารถเกิดขึ้นจริงได้ โดยเรียกกรอบนั้นว่า SCORE โดยเป็นกรอบที่จะระบุถึงแนวทางในการขับเคลื่อนให้สามารถนำ Purpose ลงไปสู่ภาคปฏิบัติจริง ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ด้าน ดังนี้
1. SIMPLIFY กล่าวคือ การทำให้ Purpose นั้นเข้าใจได้ง่ายและยังสามารถจูงใจคนได้ โดย Purpose ที่ดีนั้นต้องทำให้พนักงานทั่วทั้งองค์กร กลุ่มบริษัทคู่ค้า และอีกทั้งผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ สามารถเข้าใจได้ ด้วยการกำหนดออกมาอย่างตรงประเด็นมากกว่าการกำหนดแบบกว้างๆ คลุมเครือ และควรเริ่มจากการวางหรือระบุถึงแก่นของ Purpose ว่าปัญหาอะไรที่องค์กรต้องการเข้ามาตอบโจทย์ โดย Purpose ที่ดีควรสร้างความมั่นใจได้ว่าทำไมองค์กรถึงเหมาะสมที่จะทำเรื่องนี้
2. CONNECT เมื่อองค์กรสามารถเรียบเรียง Purpose ออกมาในรูปแบบที่เรียบง่าย เข้าใจได้ง่าย และมีความชัดเจนดีแล้ว สิ่งนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนถึงสิ่งที่องค์กรจะต้องดำเนินการ นั่นก็คือ การเริ่มกำหนดทิศทางกลยุทธ์และการเลือกที่จะใช้เงินทุนหรือทรัพยากรอื่นๆ ในกิจกรรมที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้ Purpose ที่กำหนดไว้กลายเป็นที่เชื่อถือและนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่างจริงจังได้นั้น ในทุกการตัดสินใจที่สำคัญควรจะมีการนำเอา Purpose มาใช้ในการอ้างอิงเพื่อประกอบการตัดสินใจร่วมด้วย อีกทั้ง คณะกรรมการจะต้องกำกับดูแลเพื่อให้มั่นใจได้ว่า Purpose ที่กำหนดมานั้นสามารถแปลงไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่ทุกคนในองค์กรสามารถยึดเป็นหลักและทำได้ ตลอดจนควรมั่นใจว่า Purpose นั้นสามารถเชื่อมโยงและสื่อสารไปถึงลูกค้า และบริษัทคู่ค้าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของบริษัทด้วย
3. OWN Purpose นั้นเริ่มมาจากคณะกรรมการ และถูกถ่ายทอดผ่านโครงสร้างองค์กร ระบบและกระบวนการทำงานในขั้นตอนต่างๆ เพื่อจะให้เกิดการปฏิบัติขึ้นจริง ดังนั้น Purpose จึงควรได้รับการยอมรับจากทุกคนในองค์กร ตั้งแต่ระดับกรรมการไปจนถึงพนักงานที่อยู่ในสายการผลิต นอกจากนั้นแล้ว Purpose ควรได้รับการยอมรับจากผู้ถือหุ้นด้วย ซึ่งจะทำให้องค์กรโดยรวมมีความน่าเชื่อถือ
4. REWARD คณะกรรมการควรมีการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จองค์กรในการทำตาม Purpose ที่กำหนดไว้ โดยสร้างระบบการวัดผลงานในภาพรวมที่เป็นไปในทางเดียวกันกับรูปแบบการให้ผลตอบแทนองค์กรที่เน้นในการส่งเสริมด้านพฤติกรรมที่แสดงออกถึง Purpose ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว ตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินผลงานจะเป็นตัวชี้วัดด้านการเงิน แต่องค์กรควรมีการคำนึงถึงตัวชี้วัดที่ไม่ใช่การเงินที่จะใช้เพื่อวัดผลสำเร็จขององค์กรในด้านที่จะช่วยส่งเสริมให้กับผู้มีส่วนได้เสียด้วย ซึ่งจะสะท้อนการวัดผลสัมฤทธิ์ของ Purpose ได้มากขึ้น
5. EXEMPLIFY กล่าวคือ การเน้นถึงบทบาทของผู้นำองค์กรในการสื่อสารเรื่องราวเพื่อทำให้ Purpose ขององค์กรมีชีวิตและจับต้องได้ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยบทบาทนี้จะช่วยสร้างให้คนในองค์กรมีเครื่องยึดเหนี่ยวและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มองภาพเดียวกัน โดยมี Purpose ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่กำลังทำสิ่งในที่มีคุณค่าและเติมเต็มในส่วนที่องค์กรกำลังมุ่งไป
Purpose นั้นไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเพียงสโลแกนฉาบฉวยทางการตลาดหรือเป็นกลุ่มคำที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร เมื่อกำหนดมาแล้ว Purpose ต้องถูกใช้เป็นแก่นสำคัญขององค์กร ซึ่งไม่มีเวลาไหนแล้วที่จะเหมาะกับการ กลับมาทบทวน Purpose ขององค์กรเท่ากับในช่วงเวลานี้ หลังจากปี 2020 ที่ผ่านมา บริษัททั่วโลกคงต่างตระหนักดีถึงความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ การที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก การที่ต้องคอยคิดว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรสามารถแข่งขันได้ในตลาดทุนและอยู่ได้อย่างยั่งยืนและสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้นำองค์กรต่างมีมุมมองและมีประสบการณ์ที่จะนำกลับมาใช้ในการพิจารณาทบทวนองค์กรอีกครั้ง จึงถือเป็นบทบาทที่สำคัญของคณะกรรมการในการนำฝ่ายบริหารให้กลับมาทบทวนและกำหนดหลักสำคัญทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น Purpose, Vision, Mission และ Value ให้กับองค์กร อีกทั้งวางแนวทางในการนำ Purpose ไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนสามารถปลูกฝังและสื่อสารให้กับคนทั้งในและนอกองค์กรได้รับทราบ และสามารถทำให้เกิดผลจริงได้มากที่สุด
Source: https://corpgov.law.harvard.edu/2020/09/02/enacting-purpose-within-the-modern-corporation/
https://www.forbes.com/sites/bobeccles/2020/08/20/putting-purpose-into-practice-the-enacting-purpose-initiative/?sh=78c787c0321e
รวงฝน ใจสมุทร
Curriculum and Facilitators
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
|