แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการในการกำกับดูแลและส่งเสริมนวัตกรรม
ปัจจุบัน กิจการต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ กฎระเบียบภาครัฐ สังคม และวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดรูปแบบการใช้สินค้า / บริการที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และมีความแตกต่างหลากหลายเกินจะคาดเดา
ปัจจัยข้างต้นได้กลายเป็น “ความท้าทายใหม่ๆ” สำหรับกิจการ ที่จะต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ด้วยการสร้าง “นวัตกรรม” (Innovation) ซึ่งเป็นกระบวนการในการแสวงหา “โอกาสทางธุรกิจ” ที่มาพร้อมกับเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น แล้วจึงนำไปวิจัยและพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นแนวคิดใหม่ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่กิจการ และก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป
คู่มือฉบับนี้จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว และความจำเป็นที่กิจการจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานจนสัมฤทธิ์ผล โดยเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในเอกสารฉบับนี้จะนำเสนอเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. หลักการสำคัญ (Key Principles) และ 2. แนวปฏิบัติ (Guidelines)
หลักการสำคัญ (Key Principles) ของแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ ประกอบด้วย
คณะกรรมการพึงมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของ “นวัตกรรม” (Innovation) ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเพิ่มพูนขีดความสามารถทางการแข่งขันของกิจการ อันส่งผลต่อความสำเร็จและการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการพึงทบทวนองค์ประกอบของคณะกรรมการ (Board Composition) ให้มีความเหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมให้คณะกรรมการประกอบด้วยสมาชิกที่มีคุณสมบัติแตกต่าง หลากหลาย (Diversity) เพื่อให้เอื้อต่อการทำหน้าที่กำกับดูแลด้านนวัตกรรม
คณะกรรมการควรมุ่งส่งเสริมและกำกับดูแลให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมตามแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของกิจการ โดยพิจารณาทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
คณะกรรมการมีหน้าที่ชี้แนะแนวทาง ตลอดจนสนับสนุนให้กิจการมีการพัฒนานวัตกรรม หรือนำเอานวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยมอบหมายให้ฝ่ายจัดการ เป็นผู้ขับเคลื่อนและรับผิดชอบดำเนินงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
คณะกรรมการพึงหารือร่วมกับฝ่ายจัดการ ทั้งในด้าน “แนวคิด” และ “กระบวนการ” ส่งเสริม / พัฒนานวัตกรรมของกิจการ เพื่อประสานความเข้าใจและสร้างมุมมองให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
คณะกรรมการพึงดูแลให้กิจการมี “โครงสร้างองค์กร” ที่เหมาะสม เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม โดยปรับโครงสร้างการดำเนินงาน การออกแบบงาน สายการบังคับบัญชา และหน้าที่-ความรับผิดชอบให้มีความยืดหยุ่น มุ่งเน้นการสื่อสารและการกระจายอำนาจอย่างเพียงพอ
คณะกรรมการพึงดูแลให้มั่นใจว่า กรรมการผู้จัดการใหญ่ ตลอดจนผู้บริหารระดับสูง มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีศักยภาพของความเป็น “ผู้นำเชิงนวัตกรรม” (Innovative Leadership) โดยควรผนวกเข้าเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่ใช้ในการสรรหา คัดเลือก กำหนดค่าตอบแทน และประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารระดับสูง
คณะกรรมการพึงมีบทบาทในการกำหนดกลยุทธ์ระดับองค์กร โดยควรดูแลให้มั่นใจว่า แนวทางการส่งเสริมด้านนวัตกรรมได้ถูกให้ความสำคัญและบูรณาการอยู่ในกลยุทธ์ดังกล่าว เพื่อให้ฝ่ายจัดการสามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
คณะกรรมการพึงกำกับดูแลความเสี่ยงควบคู่ไปกับการกำกับดูแลด้านนวัตกรรม โดยพิจารณาทบทวนความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) ร่วมกับฝ่ายจัดการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม
คณะกรรมการควรสนับสนุนให้กิจการมีวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมนวัตกรรม (Culture of Innovation) โดยการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เอื้อให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดนอกกรอบ และใฝ่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา อันนำไปสู่การต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับกิจการ
คณะกรรมการควรติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานตามกลยุทธ์ / แผนบริหารจัดการนวัตกรรม ผ่านรายงานของฝ่ายจัดการอย่างสม่ำเสมอ พร้อมให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางให้ฝ่ายจัดการดำเนินการพัฒนา / ปรับปรุงต่อไป
คณะกรรมการพึงดูแลให้มั่นใจว่า นวัตกรรมที่กิจการพัฒนาขึ้นนั้น มิได้ก่อให้เกิดมูลค่าแก่ธุรกิจ หรือสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้เท่านั้น หากแต่ต้องสามารถสร้างคุณประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียตลอดจนสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
ทั้งนี้ สาระสำคัญในส่วนของแนวปฏิบัติ (Guidelines) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์ด้านล่าง
|