Diversity in Business Report: Women Empowerment
Diversity in Business Report: Women Empowerment
จากสภาวะการณ์ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจกำลังถูกท้าทายจากความผันผวน ความไม่แน่นอน และความซับซ้อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลให้บทบาทของคณะกรรมการบริษัทมีความสำคัญและท้าทายมากขึ้นในการสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันเพื่อนำพาให้บริษัทบรรลุเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในระยะยาวรวมทั้งสร้างคุณค่าให้แก่กิจการและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
จากผลสำรวจของ National Association of Corporate Directors (NACD) 2019 ชี้ว่าความท้าทายต่างๆที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อความคาดหวังในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ โดยร้อยละ 86 มองว่าคณะกรรมการและฝ่ายจัดการต้องทำหน้าที่ร่วมกันมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนองค์กร สร้างการเติบโตและพร้อมรับมือกับความเสี่ยงใหม่ๆที่อาจต้องเผชิญในอีก 5 ปีข้างหน้า รองลงมาร้อยละ 84 คาดหวังให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ ร้อยละ 73 มีความคิดเห็นว่าบทบาทความเป็นผู้นำของคณะกรรมการมีความท้าทายมากขึ้น และมองว่าการรับมือเพื่อให้ทันกับเปลี่ยนแปลงของธุรกิจก็ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการคือผู้ที่ถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ในการนำพาองค์กรก้าวผ่านความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตต่อไปได้ในสภาวะปกติหรือแม้แต่ประคับประคององค์กรให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆก็ตาม
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คณะกรรมการสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนองค์กรก้าวผ่านความท้าทายต่างๆไปสู่ความสำเร็จได้คือ การมีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่หลากหลาย หรือ Board Diversity ที่จำเป็นต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักขององค์กร ทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถ คุณลักษณะเฉพาะด้าน เนื่องจากการมี Board Diversity จะช่วยให้คณะกรรมการในองค์รวมมีมุมมองที่หลากหลาย รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลในเชิงลึก เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันที่เป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ สาเหตุที่ทั่วโลกให้ความสำคัญประเด็นเรื่องความหลากหลายในคณะกรรมการมากขึ้นนั้น International Corporate Governance Network (ICGN) รายงานว่าอาจเป็นผลมาจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2008-2009 ที่คณะกรรมการบริษัทจำนวนมากถูกผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพราะสมาชิกคณะกรรมการไม่มีความเป็นอิสระ ขาดความหลากหลายทางความคิด ความเชี่ยวชาญ และมุมมอง จึงทำให้เกิดการคิดแบบกลุ่ม ไม่สามารถบริหารจัดการ หรือควบคุมดูแลความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพพอจนนำมาสู่ความล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการกระตุ้นให้เกิดความหลากหลายภายในคณะกรรมการมากขึ้น หากลองพิจารณาองค์ประกอบที่จะส่งผลต่อความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของคณะกรรมการนั้นอาจแบ่งได้เป็น 2 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบแรกคือความรู้และประสบการณ์ของกรรมการ (Knowledge and Experience) ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถพิจารณาได้จากประวัติการศึกษาและการทำงานก็สามารถรู้ได้ว่ากรรมการนั้นมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อย่างไร อีกองค์ประกอบหนึ่งคือความสามารถในการทำงานและคุณลักษณะส่วนบุคคล (Competencies and Personal attributes) ซึ่งเป็นสิ่งที่อาศัยเพียงแค่พิจารณาจากประวัติการทำงานเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอย่างไร แต่ต้องมาจากการรู้จักสไตล์การทำงาน รู้จักแนวคิด และบุคลิกลักษณะของกรรมการนั้นจากประสบการณ์ส่วนตัว หรือการใช้วิธีอื่นๆ เช่น สัมภาษณ์ ทำแบบประเมิน ซึ่งอาจเป็นส่วนเสริมในการพิจารณา และอาจกล่าวได้ว่าในตัวกรรมการหนึ่งคน มีสององค์ประกอบนี้ที่จะส่งผลต่อความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่
นอกจากความหลากหลายทางด้านความรู้ ประสบการณ์ และคุณลักษณะของกรรมการแล้ว ความหลากหลายของคณะกรรมการที่ได้รับความสนใจในระดับสากลประเด็นหนึ่ง คือ ความหลากหลายทางเพศ หรือ Gender Diversity โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิงในตำแหน่ง “ผู้นำ” ยังคงเป็นที่น่าสนใจและถูกจับตามองในหลายมิติ ซึ่งสอดรับกับทิศทางการขับเคลื่อนระดับโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ United Nations Thailand ในเป้าหมายที่ 5 เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยผลวิจัยจากหลายหน่วยงานระบุว่า คณะกรรมการที่ประกอบด้วยกรรมการที่มีความหลากหลายทางเพศจะช่วยสร้างมูลค่าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทได้ นอกจากนี้ รายงานของ United Nations Development Programme (UNDP) ชี้ว่า บริษัทที่ผู้นำที่มีความหลากหลายทางเพศมีแนวโน้มจะสร้างผลกำไรได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย และผลการศึกษาที่ทำร่วมกันของ DDI the Conference Board และ Ernst & Young (EY) ระบุว่า การเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในระดับผู้นำจะทำให้บริษัทมีผลกำไรเติบโตขึ้นอย่างน้อยปีละ 1.4 เท่า
ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยก็พบสัญญาณที่น่ายินดีด้วยการมีผู้นำที่เป็นกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจในตลาดทุนที่เป็นผู้หญิงในสัดส่วนที่สูงขึ้น เนื่องจากประเทศไทยสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเพิ่มบทบาทผู้หญิงในคณะกรรมการบริหาร โดยระบุใน Corporate Governance Code (CG Code) เหมือนกับอีกหลายประเทศ
จากรายงาน Women in Business Report 2020 ของ Grant Thornton Thailand พบว่า ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจไทยที่เป็นเพศหญิงมีสัดส่วนร้อยละ 32 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับโลก ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 27 และของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร้อยละ 26 นอกจากนั้น มีสถิติของบริษัทจดทะเบียนไทยระบุว่า จำนวนกรรมการของบริษัทจดทะเบียนไทยที่เป็นเพศหญิงมี 2,167 คน จาก 10,948 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของกรรมการทั้งหมด บริษัทจดทะเบียนไทยที่มีกรรมการเป็นเพศหญิงอย่างน้อยหนึ่งคนคิดเป็นประมาณร้อยละ 83 ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด และมีบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีผู้บริหารสูงสุดหรือ CEO ผู้หญิง มีจำนวน 104 แห่ง แบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET 78 แห่ง และในตลาด mai 26 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 13.85 ของจำนวนบริษัททั้งหมดในตลาดทุน สะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะ “ผู้นำ” ในโลกการทำงานมากขึ้น
ในกลุ่ม SET100 พบว่าร้อยละ 91 เป็นคณะกรรมการที่มีทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยมี 9 บริษัทที่เป็นคณะกรรมการเพศชายเพียงอย่างเดียว และหากพิจารณาตามกลุ่มธุรกิจ กลุ่มที่มีกรรมการเพศชายอย่างเดียวสูงสุด 3 อันดับแรก คือ สินค้าอุตสาหกรรม (ร้อยละ 20) สินค้าอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 18) รวมถึง เทคโนโลยี (ร้อยละ 14) และ อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (ร้อยละ14)
เมื่อพิจารณาจากตัวเลขค่าเฉลี่ยของบริษัทในการประเมินจากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (CGR) 2020 ของ IOD ตามกลุ่มธุรกิจ จะพบว่ากลุ่มสินค้าอุปโภคเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนกรรมการเพศหญิงมากที่สุด คือ โดยเฉลี่ยมีกรรมการเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 27 ของสมาชิกคณะกรรมการทั้งหมด
แม้บริษัทจดทะเบียนไทยจะมีความโดดเด่นมากในเรื่อง Gender Diversity เมื่อเทียบกับกลุ่มอาเซียน แต่การให้ความสำคัญและการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ผู้นำองค์กรที่เป็นผู้หญิงมีบทบาทอย่างแท้จริงในการร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเท่าทันและยั่งยืนเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจมองข้ามได้ ในปีนี้สำนักงาน ก.ล.ต. มีแนวทางในการเชิญชวนให้บริษัทมีนโยบายให้โอกาสอย่างเท่าเทียมแก่ผู้หญิงในการพิจารณาสรรหาบุคคลเป็นกรรมการ รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นการกำหนดจำนวนกรรมการเพศหญิงไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดของบริษัท การส่งเสริมให้มีกรรมการเพศหญิงเพิ่มขึ้น จะช่วยให้องค์ประกอบของบอร์ดมีความหลากหลาย และการที่มีมุมมองความคิดหลากหลาย จะนำไปสู่การคิดและการตัดสินใจอย่างรอบคอบมากขึ้น ซึ่งแน่นอนจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัท ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ท่านกรรมการจะกลับมาคิดทบทวนถึงองค์ประกอบของบอร์ด ทั้ง 2 องค์ประกอบ คือความรู้และประสบการณ์ของกรรมการ (Knowledge and Experience) และความสามารถในการทำงานและคุณลักษณะส่วนบุคคล (Competencies and Personal attributes) ว่าองค์ประกอบของบอร์ดในอนาคตขององค์กรท่านหน้าตาจะเป็นอย่างไร ความรู้หรือประสบการณ์ด้านใดของกรรมการที่ท่านกำลังต้องการสรรหาเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กรในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อกรรมการเหล่านั้นจะนำพาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน
Source:
· Guidance on Diversity on Boards, International Corporate Governance Network (ICGN) (2016)
· Global Leadership Forecast, Development Dimensions International (DDI) (2018)
· Fit for the Future: An Urgent Imperative for Board Leadership, National Association of Corporate Directors (NACD) (2019)
· Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2020, Thai Institute of Director (IOD)
· Women in Business Report, Grant Thornton Thailand (2020)
· Gender Diversity and Inclusion for a Fair Business, United Nations Development Programme, Environment (UNDP) (2021)
· Women CEO Dialogue, ประชาชาติธุรกิจ (2564)
นางสาววรัตนันท์ รัชมุสิกพัทธ์
Senior CG Analyst– Training and Facilitators
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
|