Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่และการพัฒนากรรมการ

แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่และการพัฒนากรรมการ

ปัจจุบัน ความคาดหวังต่างๆ ในการปฏิบัติหน้าที่ “กำกับดูแล” ของคณะกรรมการนั้นมีมากมาย และเพื่อให้มั่นใจว่าคณะกรรมการทำหน้าที่ต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ กิจการส่วนใหญ่มักนิยมนำเอา “การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ” (Board Evaluation) ในรูปแบบต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ทราบถึง “จุดแข็ง-จุดอ่อน” ตลอดจน “อุปสรรค” ต่างๆ ในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการในช่วงที่ผ่านมา แล้วจึงร่วมกันแสวงหาแนวทางในการพัฒนา (Board Development) เพื่อเสริมสร้างจุดแข็ง และขจัดจุดอ่อน / อุปสรรคที่คณะกรรมการเผชิญอยู่ในลำดับต่อไป

ด้วยเหตุนี้ การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการและการพัฒนากรรมการ จึงนับเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน และถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของ “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” ที่ช่วยสร้างความตระหนักให้กับคณะกรรมการ และปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีของการทำหน้าที่ในฐานะผู้นำองค์กร

คู่มือฉบับนี้จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของกิจกรรมดังกล่าวซึ่งมิใช่แค่เพียง “กิจกรรมประจำปี” ที่กรรมการต้องทำให้ลุล่วงไป (Check the Box) เท่านั้น หากแต่เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ช่วยให้คณะกรรมการได้ “ตั้งคำถาม” ถึงศักยภาพของตนเอง ว่าเหมาะสมเพียงพอที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่กิจการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วหรือยัง โดยเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในคู่มือนี้จะนำเสนอเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. หลักการสำคัญ (Key Principles) และ 2. แนวปฏิบัติ (Guidelines)


หลักการสำคัญ (Key Principles) ของแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ ประกอบด้วย

1.               การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเป็นกลไกสำคัญที่สะท้อนให้คณะกรรมการทราบถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และอุปสรรคต่างๆ ในการทำหน้าที่ของตนตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ตลอดจนช่วยสร้างความตระหนักให้กับคณะกรรมการถึงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบของการทำหน้าที่ในฐานะผู้นำองค์กร

2.               คณะกรรมการควรให้ความสำคัญและจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการอย่างสม่ำเสมอ (อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง) เพื่อนำผลการประเมินฯ ข้อสังเกต ตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ ไปพิจารณาทบทวนและปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

3.               คณะกรรมการควรพิจารณากรอบการดำเนินงาน และกำหนด “วัตถุประสงค์” ของการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ตลอดจนระบุประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ต้องการมุ่งเน้นเป็นพิเศษ เพื่อให้การดำเนินงานมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเฉพาะเจาะจง

4.               คณะกรรมการควรพิจารณา “วิธีการ / รูปแบบ” การประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการให้เหมาะสมและสอดรับกับบริบทของกิจการ ตลอดจนสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ในขณะนั้นๆ ซึ่งอาจทำให้รูปแบบและวิธีการประเมินฯ มีความแตกต่างกันไปในแต่ละปี

5.               คณะกรรมการควรพิจารณาให้ “ผู้รับการประเมินฯ” ครอบคลุมทั้งคณะกรรมการ  คณะกรรมการชุดย่อย และกรรมการรายบุคคล

6.               ประธานกรรมการพึงมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำและคอยควบคุมดูแลกระบวนการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ โดยมีเลขานุการบริษัทคอยสนับสนุนการดำเนินงาน อำนวยความสะดวก ตลอดจนช่วยประสานงานในด้านต่างๆ ให้

7.               คณะกรรมการพึงหารือร่วมกันถึงผลการประเมินฯ และประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ระบุพบ โดยอาจนำไปเปรียบเทียบกับผลการประเมินฯ ในปีที่ผ่านมา หรือแนวปฏิบัติที่ดีต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ยังขาด (Gap Analysis) สำหรับใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุง-แก้ไขต่อไป

8.               คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่ากิจการมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเหมาะสม เพียงพอ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และผลการประเมินฯ ในภาพรวมไว้ในรายงานประจำปี

9.               คณะกรรมการควรพิจารณาให้ “กิจกรรมการพัฒนากรรมการ” มีเนื้อหาสาระครอบคลุมรอบด้าน ทั้งการพัฒนาความรู้ (Knowledge) การพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับกรรมการ (Skills)  และการพัฒนาพฤติกรรม (Behavior)

10.            คณะกรรมการพึงติดตามและประเมินประสิทธิภาพ / ประสิทธิผลของการจัดกิจกรรมพัฒนากรรมการอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการ ตลอดจนรูปแบบกิจกรรมพัฒนากรรมการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป  

11.            คณะกรรมการพึงติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะสามารถประเมินได้ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างไรต่อกิจการ แล้วคณะกรรมการจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญใดๆ เพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น 

 

ทั้งนี้ สาระสำคัญในส่วนของแนวปฏิบัติ (Guidelines) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

  

 

 



Best Practices Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand