Thinking Holistically, Growing Sustainably คุยเรื่อง GRC
ในวิถีของ กรรมการ
เป็นที่ทราบกันดีว่า... คณะกรรมการนั้นมีบทบาทสำคัญที่จะต้อง “กำกับดูแล” องค์กรให้ดำเนินธุรกิจไปตามวัตถุประสงค์ วิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ ทั้งยังต้องดูแลให้สอดรับกับ “ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้” (Risk Appetite) ตลอดจนหมั่นแสวงหาโอกาสที่จะสร้าง “คุณค่าเพิ่ม” หรือประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนแทบตามไม่ทัน (ซึ่งบางองค์กรก็ตามไม่ทันจริงๆ จนล้มหายตายจากไป... ก็มีให้เห็นอยู่มาก)
อย่างไรก็ตาม “เป้าหมายสูงสุด” ของกรรมการในการทำหน้าที่กำกับดูแลนั้น ไม่ใช่เพื่อให้องค์กรอยู่รอดไปวันๆ และสามารถข้ามผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากเรื่องหนึ่งเรื่องใดไปได้เท่านั้น หากแต่ต้องทำให้องค์กรเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (Grow Sustainably) ในระยะยาวด้วย ...พอกล่าวถึงตรงนี้ คำถามที่ตามมาในทันที ก็คือ “การเติบโตอย่างยั่งยืน” ที่ว่านั้น ...มันมีลักษณะอย่างไร?
คำตอบคือ... องค์กรจะต้องมีเป้าหมาย / กลยุทธ์ / ทิศทางการดำเนินงานที่ “รู้เท่าทัน” การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ตลอดจน “เข้าใจ” ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่แค่ลูกค้า หากแต่ยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มอื่นๆ ตลอดจนชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย (ESG) และเมื่อถึงเวลาที่ฝ่ายจัดการต้องรับเป้าหมาย / แผนกลยุทธ์เหล่านั้นไปปฏิบัติ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องเจออุปสรรคขวากหนามสารพัด (หรือที่เรียกกันว่า “ปัจจัยเสี่ยง”) ที่พร้อมจะมาทำให้การดำเนินงานตามแผนเหล่านั้นไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วาดหวังไว้ ...จึงเป็นที่มาว่าทำไมองค์กรต้องมีระบบควบคุมความเสี่ยงที่ดี ซึ่งต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กับการติดตามดูแลให้มั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นสอดรับกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ แนวปฏิบัติสากล และมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถ “ตัดไฟเสียแต่ต้นลม” ก่อนที่จะลุกลามบานปลายจนยากเกินจะแก้ไข
มาถึงจุดนี้ ท่านกรรมการคงเริ่ม “เห็นภาพ” แล้วว่า… องค์ประกอบสำคัญ (อย่างน้อย) 3 ประการที่จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น ก็คือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ (Risk Management) และการตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย / ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง (Compliance) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็ได้ถูกพัฒนาต่อยอดในเวลาต่อมาโดยองค์กรที่มีชื่อว่า Open Compliance and Ethics Group (OCEG) จนกลายเป็น “ปรัชญา” ในการบริหารองค์กรยุคใหม่ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า GRC นั่นเอง
เชื่อว่ากรรมการหลายท่านคงไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับแนวคิดนี้เท่าใดนัก เพราะ 3 กลไก / ระบบงานดังกล่าวย่อมมีอยู่แล้ว (ไม่มากก็น้อย) ในองค์กร แต่อาจจะสงสัยเสียมากกว่าว่า... “แล้วมันแตกต่างอะไรจากสิ่งที่องค์กรมีอยู่ หล่ะ?” ...คำตอบคือ จุดมุ่งเน้นของแนวคิด GRC นี้ มิได้อยู่ที่การ “จัดให้มี” ระบบงานดังกล่าว หากแต่มุ่งเน้นให้ระบบงานเหล่านั้น ถูกบริหารจัดการให้ดำเนินไปอย่างสอดประสานกันจนเกิด “บูรณภาพ” (GRC Integration) ต่างหาก
จุดนี้ถือเป็น “Pain Point” สำคัญของหลายองค์กร ...ที่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ธุรกิจก็มีขนาดใหญ่ขึ้นตาม หลายส่วนงานเริ่มถูกแยกตัวออกไปเป็นเอกเทศเพื่อให้สามารถบริหารจัดการเรื่องนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่ รูปแบบการดำเนินงานดังกล่าวอาจทำให้วัฒนธรรมการทํางานแบบ “ต่างคนต่างทํา” (Silo) เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยไม่รู้ตัว ...ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ ระบบงาน / กระบวนการทางธุรกิจมีความซ้ำซ้อน ขาดประสิทธิภาพ และความคล่องตัว ทั้งยังสร้างค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มโดยไม่จำเป็น ทำให้กิจการสูญเสียทรัพยากรที่มีอยู่ไปอย่างน่าเสียดาย
ในฐานะกรรมการ... ท่านเคยถามตัวเองไหมว่า ท่านจะสอดส่องดูแลให้องค์กรปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ / ข้อบังคับ มาตรฐานต่างๆ อย่างครบถ้วน (C) ได้อย่างไร หากท่านปราศจากความเข้าใจในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (G) และท่านจะกำกับดูแลกิจการของท่าน ตลอดจนกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์ที่เหมาะสมได้อย่างไร หากท่านมองไม่เห็นถึงความเสี่ยงสำคัญๆ ที่องค์กรของท่านเผชิญอยู่ (R) …เห็นไหมครับว่ามันโยงใย ร้อยเรียง และเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันอยู่... และนี่คือ “คำตอบ” ว่าทำไมการบูรณาการส่วนงานทั้งสามนี้ภายในองค์กร ...จึงมีความสำคัญ และจำเป็น “ต้องทำ”
ส่วนเรื่องที่ว่าจะ “ทำอย่างไร” ให้ส่วนงานต่างๆ ข้างต้นเกิดการบูรณาการกันนั้น คงต้องอาศัยหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็น “บุคลากร” ที่จะต้องมีมุมมองแบบองค์รวม (Holistic View) เห็นความเชื่อมโยง / ผลกระทบของส่วนงานตนที่จะมีต่อส่วนงานอื่นๆ ...“กระบวนการ” ที่ชัดเจน มีระบบควบคุมที่ดี และถูกออกแบบมาให้สอดรับกัน ...ตลอดจน “เทคโนโลยี” ที่เข้ามาช่วยประมวลผล นำเสนอ และแลกเปลี่ยนสารสนเทศเพื่อให้เห็น “ภาพเดียวกัน” ทั่วทั้งองค์กร
หากท่าน (ในฐานะกรรมการ) สามารถกำกับดูแลให้กิจการมีการดำเนินงานตามแนวทางต่างๆ ข้างต้น จนเกิด “บูรณภาพ” ดังกล่าวได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ...เป้าหมายในการสร้าง “การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน” ให้แก่องค์กร ...คงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป
และขอฝากทิ้งท้ายเพื่อแจ้งข่าวบอกกล่าวไปยังกรรมการทุกท่านว่า... ขณะนี้ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้จัดทำ “แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการเกี่ยวกับการบูรณาการ GRC” ขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าว และเพื่อให้กรรมการได้ใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแล ตลอดจนร่วมกับฝ่ายจัดการในการประเมินว่ากลไก / ระบบงานภายในขององค์กรสอดรับกับแนวคิดการบูรณาการ GRC แล้วหรือยัง ...ซึ่งนับเป็น “ครั้งแรก” ของการจัดทำแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ ผ่าน “มุมมองกรรมการ” อย่างแท้จริง โดยท่านสามารถ Download เอกสารดังกล่าวได้ที่ https://forms.gle/Mf1Rv1vdfuzXMTy77 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
อภิลาภ เผ่าภิญโญ
CG Supervisor – Research & Development
สถาบันกรรมการบริษัทไทย
|