แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการด้านการตรวจสอบกิจการ
แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการด้านการตรวจสอบกิจการ
การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอันยากเกินจะคาดเดา ดังนั้น กิจการที่จะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน จึงต้องมีพื้นฐานแข็งแกร่งและยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และการบริหารภายใต้กฎระเบียบ ตลอดจนมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องมีคณะกรรมการที่มีความรู้ ความสามารถ และสามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เป็นอย่างรอบด้าน
นอกจากการเป็นผู้นำองค์กรที่ดีแล้ว คณะกรรมการยังต้องมีหน้าที่กำกับดูแลให้กิจการดำเนินไปตามกลยุทธ์ นโยบาย และแผนธุรกิจที่กำหนดไว้จนลุล่วง โดยจัดให้มีกลไกในการ “ตรวจสอบกิจการ” (Audit) ที่มีประสิทธิภาพ รัดกุม และเป็นอิสระ เพื่อให้มั่นใจว่า “ระบบควบคุมภายใน” ขององค์กรมีความเพียงพอ เหมาะสม ตลอดจนมีกระบวนการในการเปิดเผยข้อมูลที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการจัดทำ “รายงานทางการเงิน” ที่ถูกต้อง ครบถ้วน เชื่อถือได้ และทันต่อเวลา
ดังนั้น สถาบันฯ จึงเห็นควรให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้คณะกรรมการได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของตนในการตรวจสอบกิจการ ตลอดจนสามารถใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาแต่งตั้งและมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบไปยัง “คณะกรรมการตรวจสอบ” (Audit Committee) ได้อย่างเหมาะสม โดยเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในเอกสารนี้จะนำเสนอเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. หลักการสำคัญ (Key Principles) และ 2. แนวปฏิบัติ (Guidelines)
หลักการสำคัญ (Key Principles) ของแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ ประกอบด้วย
1. คณะกรรมการมีหน้าที่สอดส่องดูแลองค์กรให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยกำหนดให้ฝ่ายจัดการและพนักงานเป็นผู้รับผิดชอบต่อการวางแผนและการดำเนินธุรกิจภายใต้การบริหารความเสี่ยงและ “การควบคุมภายใน” ที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนคำนึงผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม และสิ่งแวดล้อม
2. คณะกรรมการพึงกำกับดูแลให้มั่นใจว่า กิจการมีกลไกในการ “ตรวจสอบกิจการ” (Audit) ที่มีประสิทธิผลและรัดกุม สำหรับใช้ประเมินถึงความเพียงพอ เหมาะสมของแนวทางการควบคุมภายในดังกล่าว อันประกอบไปด้วย
2.1 กลไกในการตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล
2.2 กลไกในการประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในและระบบการตรวจสอบภายใน
2.3 การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ กฎหมาย หรือข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.4 กรอบและกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
2.5 กระบวนการพิจารณาคัดเลือก เสนอ แต่งตั้ง และเสนอค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีที่เหมาะสม
2.6 กระบวนการที่เหมาะสมในการสอบทานรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
3. คณะกรรมการมีหน้าที่แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบ” ขึ้นมาเป็นคณะกรรมการชุดย่อยอีกคณะหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งเป็น “กรรมการอิสระ” ทั้งหมด เพื่อทำหน้าที่แบ่งเบาและสนับสนุนคณะกรรมการในการกำกับดูแลกลไกการตรวจสอบกิจการดังกล่าว
4. คณะกรรมการพึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่มีความรู้และความสามารถเหมาะสมกับบริบทขององค์กร สอดคล้องตามกฎเกณฑ์ที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ จากผู้บริหารหรือกลุ่มที่มีผลประโยชน์อื่นใด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยคณะกรรมการควรเสริมสร้างความรู้และทักษะในการปฏิบัติหน้าที่แก่คณะกรรมการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
5. คณะกรรมการพึงดูแลให้มั่นใจว่า คณะกรรมการตรวจสอบสามารถอุทิศเวลาของตนได้อย่างเหมาะสม เพียงพอ ในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจนครบถ้วน สมบูรณ์ โดยคณะกรรมการพึงให้การสนับสนุนด้านงบประมาณและบุคลากรแก่คณะกรรมการตรวจสอบอย่างเพียงพอ ตลอดจนการว่าจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องได้เมื่อมีความจำเป็น เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. คณะกรรมการสามารถมอบหมายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ งานที่มอบหมายต้องไม่ทำให้ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระของกรรมการตรวจสอบ
7. คณะกรรมการควรกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ อย่างน้อยไตรมาสละ 1ครั้ง และรายงานสรุปผลที่ได้จากการประชุมนั้นให้คณะกรรมการทราบทุกไตรมาส โดยอาจบรรจุประเด็นสำคัญที่พบจากการตรวจสอบ และการขอเข้าหารือปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขให้ทันเวลา
8. คณะกรรมการควรได้รับรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบในรอบปี และเปิดเผยผลการปฏิบัติงานนี้ในรายงานประจำปีด้วย
ทั้งนี้ สาระสำคัญในส่วนของแนวปฏิบัติ (Guidelines) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์ด้านล่าง
|