Climate Governance: What Now (and What Next) for Directors? (Part 1/2)
• ปัจจุบัน เราเริ่มเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่าง “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change) กับ “การดำเนินธุรกิจ” เด่นชัดมากขึ้นทุกที การตัดสินใจทางธุรกิจอาจเป็นได้ทั้ง “ตัวเร่ง” และ “ตัวชะลอ” ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีนัยสำคัญ ...ในขณะเดียวกัน Climate Change ก็นำมาซึ่ง “ความเสี่ยง” และ “โอกาส” ใหม่ๆ ให้ธุรกิจได้จับตามองอยู่เสมอ (Climate-related Risks & Opportunities)
• นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นเสมือน Red Flags ที่ส่งสัญญาณเตือนให้คณะกรรมการทราบอยู่เป็นระยะๆ ว่า ประเด็น Climate Change นั้นเป็นเรื่องที่องค์กรจะทำเป็น “ไม่รู้ไม่ชี้” ต่อไปไม่ได้แล้ว ตัวอย่างเช่น
บริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ดังๆ ถูกจ่อคิวดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตที่สร้างมลภาวะและทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้น (Shareholder Activism) ที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการเรียกร้องและผลักดันให้บริษัทต่างๆ เร่งสร้างมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหา Climate Change อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ เมื่อปลายปี 2021 ที่มีผู้นำกว่า 196 ประเทศทั่วโลกตบเท้าเข้าร่วมหารือแนวทางจัดการปัญหา Climate Change โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ภายในปี 2050 และจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส พร้อมกับการประสานความร่วมมือไปยังภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับภาครัฐอย่างจริงจัง
ค่านิยมและทัศนคติของคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลุ่มคนรุ่นใหม่” ที่มีความตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนมากกว่าคนรุ่นเก่า และแสดงออกมาอย่างชัดเจนผ่านพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น การสนับสนุนและการเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เป็นต้น
• วิวัฒนาการและการแปรผันของค่านิยม / ทัศนคติดังกล่าว ย่อมนำไปสู่การเกิดขึ้นของบรรทัดฐานใหม่ๆ ในสังคม ประเด็นนี้...ถึงกับมีการคาดการณ์กันเลยทีเดียวว่า “ในอนาคต...การลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม...ก็เหมือนการลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้เปิดเผยงบดุลในรายงานประจำปี” และในท้ายที่สุด ...บรรทัดฐานเหล่านี้ก็จะถูกนำไปใช้เป็นกรอบแนวคิดของการร่างกฏระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรฐานด้านมลภาวะ / สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่จะมาบังคับใช้กับธุรกิจทั้งหลายในอนาคต
• คำถามในวันนี้... จึงไม่ใช่ “Climate Change ควรถูกผนวกเข้าไปอยู่ในเป้าหมายระยะยาว หรือกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจหรือไม่ ?” หากแต่เป็น “องค์กรจะมีกลไกหรือแนวทางในการรับมือกับประเด็น Climate Change อย่างไร ?” มากกว่า ...ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นแรงขับเคลื่อนให้คณะกรรมการบริษัทต้องหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง ด้วยการติดตามดูแลให้มั่นใจว่า ความเสี่ยงทางธุรกิจที่มาพร้อมกับ Climate Change นั้นถูกบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ
• เมื่อพูดถึง “ความเสี่ยง” ...ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสนี้ ฝากประชาสัมพันธ์ให้กรรมการทุกท่านทราบว่า สถาบันกรรมการบริษัทไทยได้จัดทำ “แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการด้านการบริหารความเสี่ยง” เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านสามารถ Download แนวปฏิบัติฯ ดังกล่าวได้ที่ https://forms.gle/r4FHT3PJytVJMDbk9 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ...หวังว่าเอกสารฉบับนี้จะช่วยสนับสนุนงานกำกับดูแลความเสี่ยงด้าน Climate Change ขององค์กรท่าน (ไม่มากก็น้อย) นะครับ
• การหยิบยกเอา Climate Change มาวิเคราะห์ในมิติของความเสี่ยง น่าจะเป็นเรื่องใหม่ที่คณะกรรมการหลายบริษัทอาจไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าใดนัก ดังนั้น เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น บทความนี้จะขออธิบายความเสี่ยงทางธุรกิจที่มาพร้อมกับ Climate Change ใน 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่ ความเสี่ยงเชิงกายภาพ (Physical Risk) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (Transitional Risk) และความเสี่ยงด้านความรับผิด (Liability Risks)
ความเสี่ยงเชิงกายภาพ (Physical Risk) คือความเสี่ยงจำพวกหายนภัยทางธรรมชาติที่ปรากฏในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำท่วม พายุเฮอร์ริเคน ไฟป่า ภัยแล้ง สภาพอากาศแปรปรวน ฯลฯ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิต สินทรัพย์ หรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจน กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงประเภทนี้ค่อนข้างสูง ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร ธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นต้น
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) หมายถึงความเสี่ยงที่เป็นผลพวงมาจากการมาถึงของนโยบาย กฏระเบียบ ข้อบังคับใหม่ๆ ที่ถูกร่างขึ้นมาเพื่อรับมือกับปัญหา Climate Change ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและมุมมองของผู้บริโภคที่เห็นว่า การคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้อาจเป็นไปได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์และต้นทุนทางธุรกิจของบางอุตสาหกรรมในท้ายที่สุด ตัวอย่างเช่น กลุ่มธุรกิจพลังงาน (Energy Sector) ที่กำลังเผชิญแรงกดดันรอบด้านในการปรับกระบวนการผลิตเพื่อตอบสนองเทรนด์ “พลังงานสะอาด” และ “การใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์” (Net-Zero Emission) หรือกลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ (Mining Sector) ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวีธีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในบางประเทศ เป็นต้น
ความเสี่ยงด้านความรับผิด (Liability Risk) หมายถึง ความเสี่ยงจากการที่กิจการไม่สามารถปฏิบัติตามนโยบาย กฏระเบียบ ข้อบังคับใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Climate Change ได้อย่างครบถ้วน ความเสี่ยงนี้เป็นผลมาจากวิวัฒนาการทางสังคม ข้อพิพาททางกฎหมาย ตลอดจนเป้าประสงค์ของทั้ง “หน่วยงานกำกับดูแล” และ “กลุ่มนักลงทุน” ทั่วโลก ที่หันมาให้ความสำคัญและต้องการผลักดันให้กิจการนำประเด็นดังกล่าวไปเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจทางธุรกิจในกรณีต่างๆ มากขึ้น
• ปรากฏการณ์นี้ก่อให้เกิดการแตกกิ่งก้านสาขาของศาสตร์ด้าน “การกำกับดูแลกิจการ” ออกมาเป็นอีกแขนงหนึ่ง หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Climate Governance อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวดูจะไม่ใช่ “งานง่าย” สำหรับคณะกรรมการเลย เพราะนอกจากจะเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่แล้ว ยังเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนและต้องอาศัยองค์ความรู้จากหลายแขนงมาบูรณาการกัน ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือแม้แต่รัฐศาสตร์ ทั้งยังมีความไม่แน่นอนสูง คาดคะเนได้ยาก และมี Time Span ของการแสดงผลกระทบที่อาจยาวนานนับทศวรรษ (หรือมากกว่านั้น)
• แม้จะมี Time Span ที่ยาวนาน... แต่หลายฝ่ายมองว่า Climate Governance คงไม่ใช่เรื่องที่สามารถ “รอได้” อีกต่อไป เพราะผลกระทบของ Climate Change เริ่ม “ออกอาการ” ให้เห็นแล้วแบบ “ไม่ต้องรอ” ...ซึ่งนั่นเท่ากับว่า การกำกับดูแลในประเด็นนี้ คณะกรรมการต้องคำนึงถึงทุกๆ มิติเวลาไปพร้อมๆ กัน ...ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
• เมื่อกล่าวถึงการกำกับดูแล (Governance) ...2 องค์ประกอบสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ ก็คือ 1) นโยบายต่างๆ (Policy) ที่จะต้องถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้เป็นกรอบ / แนวทางในการบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าว และ 2) โครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการ (Board Structure & Composition) ที่จะต้องถูกออกแบบให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะสอดส่องดูแลและตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• เชื่อว่าองค์ประกอบสำคัญทั้งสองนี้ปรากฏอยู่แล้วในแทบทุกกิจการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทจดทะเบียน) ทว่าอาจยังไม่ได้ออกแบบมาให้สามารถ Address ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change ได้อย่างเป็นรูปธรรม ผลที่ตามมาคือ...แม้ว่าโลกธุรกิจจะตื่นตัวและมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการรับมือปัญหา Climate Change มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังพบว่า มีคณะกรรมการบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ยังคงเผชิญความยากลำบากในการพยายามทำความเข้าใจกับประเด็นนี้อย่างถ่องแท้ จนทำให้ไม่สามารถระบุความเสี่ยง (และโอกาส) ที่มาพร้อมกับ Climate Change ได้อย่างชัดเจนและครอบคลุมเพียงพอ ...ปัญหานี้เกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่
ภาระเยอะ vs. เวลาจำกัด - คณะกรรมการมีภาระ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการติดตามดูแล “ประเด็นเชิงกลยุทธ์” มากมาย เช่น พลวัติภายในอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การปรากฏตัวของคู่แข่งที่มาพร้อม Business Model รูปแบบใหม่ๆ ความผันผวนของเศรษฐกิจ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าประเด็น Climate Change …ส่งผลให้บางครั้ง คณะกรรมการอาจไม่สามารถอุทิศเวลาอย่างเพียงพอสำหรับการติดตามดูแลแบบ “ลงลึก” ในทุกๆ ประเด็นที่กล่าวมาได้
ตัวแปรมาก vs. ข้อมูลน้อย - Climate Change เป็นประเด็นเชิงระบบ (Systemic) ที่มีความซับซ้อนและทำความเข้าใจได้ยาก ทั้งยังมีความหลากหลายของรูปแบบความเสี่ยง (ดังกล่าวแล้วข้างต้น) ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และอาจไม่ได้ปรากฎให้เห็นอย่างเด่นชัดในบางอุตสาหกรรม กอปรกับมีตัวแปรหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยี กฏระเบียบต่างๆ ฯลฯ จึงทำให้การคาดการณ์และการบริหารจัดการในเรื่องนี้ มีความยากลำบากและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง
ปัญหาระยะยาว vs. มุมมองระยะสั้น - คณะกรรมการอาจไม่ได้มอง “ยาว” และ “ไกล” พอ กล่าวคือ มักมุ่งรับมือกับแรงกดดันระยะสั้น / การทบทวนแผนธุรกิจรายปี เพื่อตอบสนองความคาดหวังของนักลงทุนที่มีต่อผลประกอบการของบริษัท จนอาจลืมที่จะให้ความสำคัญอย่างเพียงพอกับประเด็น Climate Change ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยมุมมองในระยะยาว เพราะ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอาจไม่ได้ปรากฏอย่างเด่นชัดในอนาคตอันใกล้
• และนี่น่าจะเป็นสาเหตุว่าทำไม World Economic Forum จึงได้ริเริ่ม Climate Governance Initiative (CGI) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการบริษัททั่วโลกตระหนักและเร่งพัฒนาขีดศักยภาพของตนในการแสดงบทบาทเชิงรุกต่อปัญหา Climate Change ผ่านการกำกับดูแลกระบวนการพัฒนากลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง และการเปิดเผยข้อมูล ด้วยการเผยแพร่ Climate Governance Principles ซึ่งเป็นหลักการสำคัญรวมทั้งสิ้น 8 ข้อ เพื่อให้คณะกรรมการบริษัทนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมต่อไป
• โปรดติดตามรายละเอียดของหลักการทั้ง 8 ข้อนี้ได้ใน Climate Governance: What Now (and What Next) for Directors? (Part 2) เร็วๆ นี้
อภิลาภ เผ่าภิญโญ
CG Supervisor – Research & Development
Thai Institute of Directors
ที่มา:
• Bringing Climate Change to The Composition and Structure of Boards of Directors, INSEAD Corporate Governance Centre, 2020
• Climate crisis requires boards to put climate transition at the heart of corporate strategy, says international network of board directors, Australian Institute of Company Directors (AICD), 2021
• How to Set Up Effective Climate Governance on Corporate Boards Guiding principles and questions, World Economic Forum, 2019
• Here’s How Climate Change Will Impact Businesses Everywhere – And What Can Be Done, Zurich, 2021
|