Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
แนวปฎิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการในการกำกับดูแลบริษัทย่อย / บริษัทร่วม

แนวปฎิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการในการกำกับดูแลบริษัทย่อย / บริษัทร่วม

การเข้าลงทุนในบริษัทย่อย / บริษัทร่วม นับเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยกระจายความเสี่ยง เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ ตลอดจนสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่กิจการ และด้วยเหตุที่บริษัทย่อย / บริษัทร่วมเหล่านั้นอยู่ในการควบคุมหรืออิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญของกิจการ คณะกรรมการจึงควรให้ความสำคัญและสอดส่องดูแลการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของทั้งกิจการเอง และบริษัทย่อย / บริษัทร่วมที่จัดตั้งขึ้น ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

แนวปฏิบัติฉบับนี้จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว และความจำเป็นที่คณะกรรมการจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการกำกับดูแลบริษัทย่อย / บริษัทร่วม โดยองค์ความรู้และหลักปฏิบัติดังที่ปรากฏในเอกสารฉบับนี้ล้วนไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว หากแต่เป็นเรื่องที่กรรมการควรเรียนรู้ เข้าใจความแตกต่าง และนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับกิจการของตนต่อไป สำหรับเนื้อหาภายในเล่มจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. หลักการสำคัญ (Key Principles) และ 2. แนวปฏิบัติ (Guidelines)

หลักการสำคัญ (Key Principles) ของแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ ประกอบด้วย

1.     คณะกรรมการควรเข้าใจถึง “วัตถุประสงค์” ในการจัดตั้งหรือเข้าลงทุนในบริษัทย่อย / บริษัทร่วม ตลอดจนกลไกในการบริหารจัดการ บริบททางกฎหมาย และความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางในการกำกับดูแลบริษัทดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.     คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่า บริษัทและผู้ลงทุนรายอื่นๆ (ถ้ามี) ได้ร่วมกันกำหนดกรอบ / นโยบายในการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อย / บริษัทร่วม โดยพิจารณาให้ “อำนาจในการควบคุมของบริษัทแม่” กับ “ความเป็นอิสระในการบริหารจัดการของบริษัทย่อย / บริษัทร่วม” อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละกิจการ และสอดรับกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

3.     คณะกรรมการมิควรมุ่งเน้นเพียงการสร้างกรอบ / กติกาต่างๆ ระหว่างบริษัทกับบริษัทย่อย / บริษัทร่วม เพื่อให้เกิดความเป็นระบบระเบียบ (Compliance) ในการบริหารจัดการเท่านั้น หากแต่ยังต้องมุ่งเน้นการพัฒนาขีดศักยภาพ (Performance) ของแต่ละบริษัทควบคู่กันไปด้วย บนพื้นฐานความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่มีอยู่ เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้แก่ทั้งกลุ่มบริษัท

4.     คณะกรรมการควรสนับสนุนให้กิจการมี “กลไกในการบูรณาการสารสนเทศสำคัญๆ” เพื่อให้เห็นภาพรวมของโครงสร้างการบริหารจัดการภายใน ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับบริษัทย่อย / บริษัทร่วม วัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนลักษณะการประกอบธุรกิจ และโครงสร้างการถือหุ้น ที่อาจแตกต่างกันไปในแต่ละกิจการ

5.     คณะกรรมการบริษัทย่อย / บริษัทร่วม ควรประกอบด้วยบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอันเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจของบริษัทย่อย / บริษัทร่วมนั้น เพื่อทำหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารงานของบริษัทดังกล่าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกิจการ โดยคณะกรรมการพึงแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้แทนฯ” ในบริษัทย่อย / บริษัทร่วมนั้น อันเป็นไปตามสัดส่วนของการถือหุ้น และ/หรือ ข้อตกลงระหว่างผู้ร่วมลงทุน (ถ้ามี)

6.     คณะกรรมการของบริษัทย่อย / บริษัทร่วม พึงยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ตามหลัก Fiduciary Duty ที่จะต้องทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทย่อย / บริษัทร่วมนั้น ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด มิใช่เพียงเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทแม่ หรือผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด โดยบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบดังกล่าว ควรถูกกำหนดให้ชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของ “กฎบัตรคณะกรรมการ”

7.     คณะกรรมการพึงส่งเสริมให้กรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทย่อย / บริษัทร่วม ได้เข้าหารือ แสดงความคิดเห็น หรือนำเสนอข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงของบริษัทย่อย / บริษัทร่วมนั้น เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาทบทวนกลยุทธ์ นโยบาย และวัตถุประสงค์ในระยะยาวของทั้งกลุ่มบริษัทต่อไป

8.     คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่า ขอบเขตอำนาจการตัดสินใจระหว่างบริษัทและบริษัทย่อย / บริษัทร่วม ควรถูกกำหนดขึ้นอย่างชัดเจน โดยระบุว่ามีกรณีใดบ้างที่กรรมการผู้แทนฯ สามารถใช้ดุลยพินิจของตนออกเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทย่อย / บริษัทร่วมได้ และกรณีใดที่ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และ/หรือ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเสียก่อน

9.     คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่า บริษัทและผู้ลงทุนรายอื่นๆ (ถ้ามี) ได้ร่วมกันกำหนดนโยบายสำคัญต่างๆ ที่บังคับใช้ในบริษัทย่อย / บริษัทร่วม โดยอาจเป็นการนำนโยบายของกลุ่มบริษัทฯ (Group-Wide Policy) มาบังคับใช้ก็ได้ ทั้งนี้ อาจจำเป็นต้องให้ความยืดหยุ่นแก่คณะกรรมการบริษัทย่อย / บริษัทร่วมนั้นในการใช้ดุลยพินิจกำหนดนโยบายบางเรื่องได้เอง เพื่อให้สอดรับกับบริบทของแต่ละกิจการ และสามารถบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ

10.  คณะกรรมการควรดูแลให้มีกลไกในการสื่อสารที่ชัดเจน โปร่งใส ถูกต้อง และทันเวลา ระหว่างบริษัท และบริษัทย่อย / บริษัทร่วม ตลอดจนดูแลให้มีช่องทางที่คณะกรรมการสามารถติดตามให้บริษัทย่อย / บริษัทร่วมนั้นๆ เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน หรือรายการที่มีนัยสำคัญต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา

11.  คณะกรรมการพึงตรวจสอบให้มั่นใจว่าบริษัทย่อย / บริษัทร่วมที่กิจการได้เข้าไปลงทุนนั้น มีกลไกหรือระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) การตรวจสอบภายใน (Internal Audit) การปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance) และการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพ

12.  ในกรณีที่มีการทํารายการระหว่างกันภายในกลุ่มบริษัท ซึ่งมีโอกาสเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ คณะกรรมการควรดูแลให้บริษัท ตลอดจนบริษัทย่อย / บริษัทร่วม ปฏิบัติตาม “นโยบายการทํารายการระหว่างกัน” ตลอดจนหลักเกณฑ์-ขั้นตอนในการพิจารณาอนุมัติ เสมือนเป็นรายการที่กระทำกับบุคคลภายนอก (On Arms' Length Basis) โดยคํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของกิจการเป็นสําคัญ

 

ทั้งนี้ สาระสำคัญในส่วนของแนวปฏิบัติ (Guidelines) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

 

 

 

 



Best Practices Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand