Climate Governance: What Now, What Next
for Directors? (Part 2/2)
· สืบเนื่องจาก Part 1 (อ่านได้ที่http://www.thai-iod.com/th/publications-detail.asp?id=866&type=3) ที่ทิ้งท้ายไว้ว่า World Economic Forum ได้มีความพยายามในการขับเคลื่อนให้คณะกรรมการบริษัททั่วโลกตระหนักและเร่งพัฒนาขีดศักยภาพของตนในการแสดงบทบาทเชิงรุกต่อปัญหา Climate Change ผ่านการกำกับดูแลกระบวนการพัฒนากลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง และการเปิดเผยข้อมูลนั้น ...ดูเหมือนว่า “ความพยายาม” ดังกล่าวจะมาถูกที่-ถูกเวลา เพราะเมื่อปีที่แล้ว (2021) Deloitte บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำเพิ่งจะเผยแพร่บทความเรื่อง The Audit Committee Frontier: Addressing Climate Change โดยเปิดเผยข้อมูลอันชวนวิตกว่า “กว่า 42% ของกรรมการตรวจสอบ (ทั่วโลก) เชื่อว่า มาตรการในการตั้งรับกับ Climate Change ขององค์กรตน ยังเป็นไปอย่าง “เชื่องช้า” และยัง “ไม่แข็งแกร่ง” พอ”
· ในที่สุด... ความพยายามในการขับเคลื่อนของ World Economic Forum ก็ถูกกลั่นกรองออกมาเป็น Climate Governance Principles จำนวน 8 ข้อ โดยมุ่งหวังให้บรรดาผู้นำองค์กรได้หยิบยกนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม ...บทความ Part 2 นี้ จึงขอถือโอกาสมาลงรายละเอียดในหลักการแต่ละข้อกัน
· หลักการว่าด้วย Climate Governance ทั้ง 8 ข้อนี้มีวัตถุประสงค์ให้ประเด็น Climate Change ถูก “บูรณาการ” เข้าไปในกระบวนการทำงานของคณะกรรมการ เพื่อเสริมสร้างให้เกิดการขบคิด อภิปราย และตัดสินใจโดยคำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน ซึ่งครอบคลุมทั้งมุมมองระยะสั้นและระยะยาว
หลักการที่ 1: Climate Accountability on Boards คณะกรรมการพึงมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้ถือหุ้น (Accountability) ในการกำกับดูแลองค์ให้บรรลุเป้าหมายระยะยาว มีความยืดหยุ่น และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นผลพวงมาจาก Climate Change ได้อย่างเหมาะสม
Question for Board ในฐานะกรรมการบริษัท ...ท่านเข้าใจและมองเห็นความเกี่ยวข้อง-เชื่อมโยงกันระหว่าง “บทบาทหน้าที่” ของท่านตามหลัก Fiduciary Duty กับ “ความเสี่ยง / โอกาส” ทางธุรกิจที่มาพร้อมกับ Climate Change หรือไม่ อย่างไร ?
|
หลักการที่ 2: Command of the (Climate) Subject คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการ (Board Composition) ประกอบด้วยสมาชิกที่มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ที่หลากหลายพอที่จะสามารถเข้าใจ อภิปราย และตัดสินใจในประเด็นเกี่ยวกับความเสี่ยง / โอกาสที่มาพร้อมกับ Climate Change ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิผล
Question for Board คณะกรรมการบริษัทท่านได้เคยจัดให้มีการประเมินทักษะ ความรู้ ความเชี่ยวชาญของสมาชิกกรรมการ เพื่อระบุหา Ccompetency Gap ในด้าน Climate Change บ้างหรือไม่ ?
|
หลักการที่ 3: Board Structure คณะกรรมการควรร่วมกันกำหนดแนวทางในการทำให้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change ถูกบูรณาการเข้าไปในการพิจารณากำหนดโครงสร้างและกลไกการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ
Question for Board หน้าที่-ความรับผิดชอบในการกำกับดูแลประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change ได้ถูกมอบหมายไปยัง คณะกรรมการชุดย่อยที่แต่งตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะ (Dedicated Committee) หรือไปยังคณะกรรมการชุดย่อยอื่นๆ ที่องค์กรมีอยู่แล้ว (Existing Committee) อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมหรือไม่ อย่างไร ?
|
หลักการที่ 4: Material Risk and Opportunity Assessment คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่า ฝ่ายจัดการได้ทำการประเมินระดับความสำคัญ (Mmateriality) ของความเสี่ยง / โอกาสที่มาพร้อมกับ Climate Change ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อย่างต่อเนื่อง และควรติดตามดูแลให้มั่นใจว่า แนวทางการตอบสนองความเสี่ยง / โอกาสเหล่านั้นเหมาะสมกับระดับความสำคัญ (Mmateriality) ที่ประเมินได้
Question for Board Climate Change ได้ถูกผนวกเข้าไปเป็นประเด็นหนึ่งในการพิจารณาประเมินความเสี่ยง / โอกาสที่มีนัยสำคัญต่อองค์กร ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวหรือไม่? คณะกรรมการมีกระบวนการอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรมีวิธีการตอบสนองที่เหมาะสม และสอดรับกับระดับความสำคัญของความเสี่ยง / โอกาสนั้นๆ ?
|
หลักการที่ 5: Strategic and Organizational Integration คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change ได้ถูกนำไปเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนกลยุทธ์การลงทุน กระบวนการตัดสินใจ และการบริหารความเสี่ยง / โอกาสทางธุรกิจ
Question for Board ประเด็น Climate Change ได้ถูกผนวกเข้าไปเป็นหนึ่งในเรื่องที่คณะกรรมการต้องพิจารณา ทุกครั้งที่มีการพัฒนากลยุทธ์องค์กร การทบทวนรูปแบบ Business Model การวางแผนทางการเงิน ตลอดจนการตัดสินใจในกรณีสำคัญๆ หรือไม่ อย่างไร ?
|
หลักการที่ 6: Incentivization คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่า การกำหนดค่าตอบแทนผู้บริหาร ตลอดจนสิ่งจูงใจต่างๆ ได้มีการพิจารณาให้เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตขององค์กรในระยะยาว โดยคณะกรรมการอาจกำหนดให้มีการใช้ “ตัวชี้วัด” ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Climate Change มาเป็นหนึ่งในเกณฑ์พิจารณาระดับค่าตอบแทน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละกิจการ
Question for Board มีตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหรือเป้าหมาย (เกี่ยวกับประเด็น Climate Change) อะไรบ้าง ที่คณะกรรมการผนวกเข้าไปเป็นเกณฑ์สำหรับใช้พิจารณาค่าตอบแทน / แรงจูงใจของฝ่ายจัดการ? ตัวชี้วัด / เป้าหมายเหล่านั้นส่งเสริมหรือสอดรับกับเป้าหมายด้านอื่นๆ ที่กำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร ?
|
หลักการที่ 7: Reporting and Disclosure คณะกรรมการควรดูแลให้มั่นใจว่า สารสนเทศด้านความเสี่ยง / โอกาสที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Climate Change ตลอดจนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยง / โอกาสเหล่านั้น ได้ถูกเปิดเผยต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มนักลงทุน และหน่วยงานกำกับดูแล) อย่างต่อเนื่องและตรงไปตรงมา ผ่านการรายงานในลักษณะต่างๆ เช่น งบการเงิน รายงานประจำปี ฯลฯ ทั้งนี้ กลไก / กระบวนการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Climate Change พึงถูกกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดโดยคณะกรรมการ เฉกเช่นเดียวกับกลไกการเปิดเผยรายงานทางการเงิน
Question for Board องค์กรมีการรายงานหรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยง / โอกาสทางธุรกิจที่เป็นผลมาจาก Climate Change ตลอดจนความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Climate Change ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่?
|
เมื่อกล่าวถึง “การกำกับดูแลให้องค์กรมีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ตลอดจนการจัดทำรายงานทางการเงินอย่างถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง” ก็ชวนให้นึกถึงบทบาทหน้าที่ของ “คณะกรรมการตรวจสอบ” นะครับ ...ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ให้กรรมการทุกท่านทราบว่า สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้จัดทำ “แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการด้านการตรวจสอบกิจการ” เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยถือเป็นคู่มือว่าด้วยงานตรวจสอบ (Audit) ที่ “กรรมการทุกคน” (ไม่ใช่แค่กรรมการตรวจสอบ) ควรอ่าน ทั้งนี้ ท่านสามารถ Download เอกสารดังกล่าวได้ที่ http://www.thai-iod.com/imgUpload/Guideline%20on%20Board%E2%80%99s%20Oversight%20Role%20in%20Audit%20Edit270122.pdf โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
หลักการที่ 8: Exchange คณะกรรมการควรส่งเสริมให้กิจการได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการสร้างเครือข่าย ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่างๆ เช่น กิจการในอุตสาหกรรมเดียวกัน ภาครัฐฯ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย กลุ่มนักลงทุน ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงหรือการมาถึงของแนวคิด กระบวนการ ความเสี่ยง หรือกฏระเบียบใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Climate Change
Question for Board คณะกรรมการได้จัดให้มีกลไกในการสื่อสาร การแลกเปลี่ยนสารสนเทศ หรือการหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่มาพร้อมกับ Climate Change ร่วมกับลูกค้า หน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน นักวิชาการ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ อย่างเพียงพอหรือไม่ ?
|
· หลักการทั้ง 8 ข้อข้างต้น มิได้ถูกเรียงลำดับตามความสำคัญแต่อย่างใด หากแต่ถูกเรียงตาม “ลำดับความคิด” และความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ เพื่อให้กรรมการสามารถทำความเข้าใจ และเห็นภาพตามได้ง่ายขึ้น กล่าวคือ “หลักการที่ 1-4” เป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินงานตาม “หลักการที่ 5” ...ส่วน “หลักการที่ 6-8” เป็นเสมือนองค์ประกอบที่องค์กรควรจัดให้มีเพื่อช่วยขับเคลื่อนและรักษา Momentum ของงานการกำกับดูแลด้าน Climate Governance ให้ธำรงอยู่ได้ในระยะยาว
· เหนือสิ่งอื่นใด ...หัวใจสำคัญของหลักการทั้ง 8 ข้อนี้ คงหนีไม่พ้นความมุ่งหวังที่จะทำให้คณะกรรมการของกิจการน้อยใหญ่ ได้หันมาตระหนักถึง “ความเชื่อมโยงระหว่างผลกระทบของ Climate Change กับความยั่งยืนของธุรกิจ” ในระดับที่มากพอที่จะหยิบยกประเด็นดังกล่าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายในที่ประชุมคณะกรรมการ เพื่อเสริมสร้างให้เกิดกระบวนการตัดสินใจผ่านมุมมองแบบองค์รวม (Holistic View) ที่รอบคอบ-ระมัดระวังยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการขยายขอบเขตของบทบาทหน้าที่ของกรรมการตามหลัก Fiduciary Duty ให้กว้างขวางกว่าเดิมไปโดยปริยาย
· ว่าแต่... องค์กรของท่าน “พร้อม” รับมือกับประเด็น Climate Change แล้วหรือยังครับ ?
อภิลาภ เผ่าภิญโญ
CG Supervisor – Research & Development
Thai Institute of Directors
ที่มา:
· Bringing Climate Change to The Composition and Structure of Boards of Directors, INSEAD Corporate Governance Centre, 2020
· Climate crisis requires boards to put climate transition at the heart of corporate strategy, says international network of board directors, Australian Institute of Company Directors (AICD), 2021
· How to Set Up Effective Climate Governance on Corporate Boards Guiding principles and questions, World Economic Forum, 2019
· Here’s How Climate Change Will Impact Businesses Everywhere – And What Can Be Done, Zurich, 2021
· The Audit Committee Frontier—Addressing Climate Change, Deloitte, 2021
|