บันไดขั้นแรก ในการสร้าง ความพร้อม และ ความมั่นใจ ให้กับกรรมการ
ถ้าพูดถึง STARK หลายคนคงจะนึกถึง “Stark Industries” ที่มี CEO สุดเท่ ชื่อ โทนี่ สตาร์ค ที่สวมบทบาทโดย โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ในภาพยนตร์ชื่อดัง หรือที่รู้จักกันในนาม “ไอรอนแมน” ของจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล..........แต่สำหรับช่วงเวลานี้ ถ้าพูดถึง STARK คงไม่มีเรื่องใดฮอตร้อนแรงไปกว่า “บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น” ที่มีชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า “STARK” ที่มีธุรกิจหลักเป็นการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ขณะที่บริษัทย่อยเป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิล รวมทั้งธุรกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคล เมื่อเร็ว ๆ นี้ STARK สร้างข่าวเซอร์ไพรส์นักลงทุนในหุ้นไทยอยู่พอสมควร ด้วยการแจ้งข่าวสำคัญ กรณีกรรมการลาออกจำนวน 7 ท่าน และการแต่งตั้งกรรมการใหม่แทนกรรมการที่ลาออกจำนวน 5 ท่าน การเปลี่ยนแปลงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การยกเลิกตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และแต่งตั้งรักษาการเลขานุการบริษัท และการเลื่อนกำหนดส่งงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ล่าช้ากว่าที่กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ ไปเป็นราวเดือนพ.ค. – มิ.ย. 2566 ซึ่งถือเป็นการเลื่อนครั้งที่ 3 ตั้งแต่ครบกำหนดส่งงบการเงินดังกล่าว
ในข่าวระบุว่า STARK ปรับโครงสร้างของคณะกรรมการลดลงเหลือจำนวน 6 คน โดยเป็นกรรมการใหม่จำนวน 5 คนเข้ามาแทนที่และเริ่มปฏิบัติหน้าที่โดยทันที มีเพียง 1 ท่าน คือ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ยังเป็นกรรมการท่านเดิม โดยได้เข้าดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท และได้แสดงความประสงค์ที่จะดูแลแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วง โดยพร้อมส่งงบการเงินภายใน พ.ค.- มิ.ย. 2566 นี้ บทความนี้มิได้จะตีแผ่หรือเจาะประเด็นใด ๆ เกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ แต่ในมุมของการกำกับดูแลกิจการแล้ว มีเรื่องน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถหยิบยกและนำมาพูดคุยกันได้ ก็คือ การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ที่โดยปกติแล้วกรรมการแต่ละท่านจะผ่านกระบวนการสรรหามาเป็นอย่างดี จนได้มาซึ่งกรรมการที่มีคุณสมบัติเหมาะสม อย่างไรก็ตาม มีเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นบันไดขั้นแรก ในการสร้าง “ความพร้อม” หรือ “ความมั่นใจ” ในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับกรรมการได้ คือ การกำหนดนโยบายอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรในการจัดให้มี “กิจกรรมปฐมนิเทศกรรมการเข้าใหม่” (New Director Orientation) โดยอาจบรรจุอยู่ในนโยบายกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance Policy) กฎบัตรคณะกรรมการ (Board Charter) หรือนโยบายอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เพราะไม่ว่ากรรมการจะลาออกกี่ท่าน ไม่ว่ากรรมการใหม่ท่านนั้นจะมีประสบการณ์เป็นกรรมการบริษัทมาก่อนหรือไม่ก็ตาม หากกรรมการที่เข้ามารับตำแหน่ง ปรับตัวได้เร็วที่สุด และทราบข้อมูลสำคัญของบริษัททั้งหมดได้โดยเร็วจะเป็นเรื่องที่ดีต่อบริษัท เพราะความรับผิดชอบของกรรมการท่านใหม่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบริษัทต้องการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
การปฐมนิเทศกรรมการเข้าใหม่นั้นถือเป็น “กระบวนการต่อเนื่อง” มิใช่การดำเนินการแบบ “ครั้งเดียวจบ” แนวทางการปฏิบัติที่ดีจึงพิจารณากรอบแนวคิดให้กระบวนการปฐมนิเทศกรรมการใหม่ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ 1) ช่วงการศึกษาด้วยตนเอง ในช่วงที่มีการเรียนเชิญบุคคลเข้ารับตำแหน่งจนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ เพื่อนำส่งข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ต่อบุคคลดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเข้าใจในรูปแบบของกิจการ 2 ) ช่วงจัดกิจกรรมปฐมนิเทศอย่างเป็นทางการ คือ การได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับบุคลากรท่านอื่นๆ ในองค์กร เพื่อนำเสนอข้อมูลสำคัญ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตอบคำถามในประเด็นที่กรรมการใหม่อาจยังมีข้อสงสัย 3) ช่วงหลังการเข้ารับตำแหน่ง เพื่อให้มั่นใจว่ากรรมการใหม่ได้รับการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง เข้าใจในกระบวนการทำงานของคณะกรรมการ ตลอดจนสามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างราบรื่น
การปฐมนิเทศกรรมการ นับเป็นกระบวนการสำคัญที่เปิดโอกาสให้กรรมการท่านใหม่ได้ทำความเข้าใจถึงประวัติความเป็นมา วัตถุประสงค์ และเป้าหมายหลักของกิจการ ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญในการทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกกรรมการด้วยกันอีกด้วย ดังนั้น คณะกรรมการจึงควรให้ความสำคัญและกำหนดให้การปฐมนิเทศเป็นกิจกรรม “ภาคบังคับ” (Mandatory) ของกรรมการเข้าใหม่ทุกท่าน โดยผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานในเรื่องดังกล่าวโดยทั่วไป คือเลขานุการบริษัท และ/หรือประธานคณะกรรมการสรรหา อีกทั้งบริษัทยังสามารถขยายผลกิจกรรมปฐมนิเทศกรรมการ เช่น จากการที่คณะกรรมการได้เห็นซึ่งคุณสมบัติ (Profile) ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ตลอดจนจุดแข็ง-จุดอ่อนต่าง ๆ ของกรรมการท่านใหม่ ผ่านการสนทนา แลกเปลี่ยนทรรศนะมุมมองระหว่างกัน พึงนำเอาคุณสมบัติของแต่ละท่านนั้นมาบรรจุอยู่ใน Board Skill Matrix เพื่อให้ได้ภาพที่เป็นปัจจุบัน ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อวิเคราะห์สิ่งที่ยังขาด (Gap Analysis) และไปใช้ในแผนการพัฒนากรรมการรายบุคคล (Individual Director Development Plan) ได้อีกในอนาคต
ศรีสุนันท์ อนุจรพันธุ์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ
สถาบันกรรมการบริษัทไทย
• ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการเกี่ยวกับการปฐมนิเทศกรรมการเข้าใหม่
• คำแนะนำสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการให้ข้อมูลหรือจัดเตรียมกิจกรรมปฐมนิเทศกรรมการใหม่ รายการเอกสารเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับกรรมการใหม่
====================================================================
แหล่งข้อมูล :
www.set.or.th
เกิดอะไรขึ้น ? STARK ล้างบาง
thestandard.co/stark-stock/
วิกิพีเดีย
|