Unlocking Success in the Boardroom: Why Knowing Your Directors' Personalities is Vital for Effective Chairmanship
มักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งที่เมื่อเราพูดถึงความหลากหลายของคณะกรรมการหรือ Board Diversity คนมักจะนึกถึงปัจจัยหรือองค์ประกอบที่จะต้องนำมาพิจารณาเพื่อกำหนดเป็นเกณฑ์ให้เกิดความหลากหลายในคณะกรรมการขึ้น เช่น เพศ ทักษะ อายุ ประสบการณ์ เป็นต้น
ถามว่าการทำแบบนั้นเป็นแนวทางที่ถูกหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่าใช่ เพราะถือเป็นพื้นฐานที่ดีในการช่วยให้เกิดความหลากหลายขึ้นจริง แต่เกณฑ์ที่จะนำมากำหนดนั้นคงต้องดูความเหมาะสมในบริบทของแต่ละองค์กรร่วมด้วย
แต่หากมาพิจารณาถึงผลลัพท์สุดท้ายที่อยากได้จากความหลากหลายในคณะกรรมการ แน่นอนว่าทุกคนจะนึกถึงความแตกต่างทางมุมมองความคิดที่จะช่วยทำให้การตัดสินใจได้ถูกกลั่นกรองออกมาเป็นอย่างดี ก่อนที่จะสรุปว่า
ผลลัพท์จากการตัดสินใจในครั้งนั้นคืออะไร
แต่ด้วยความหวังว่าหากคณะกรรมการมีองค์ประกอบที่มีความหลากหลาย ตามเกณฑ์และปัจจัยต่างๆที่เรากำหนดมาแล้ว จะทำให้การกลั่นกรองก่อนการตัดสินใจเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะการได้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายมา ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นจะแสดงมุมมองหรือความคิดเห็นออกมาเพื่อให้เกิดการตัดสินใจโดยรวมที่มีประสิทธิภาพได้
นั่นคือที่มาของหน้าที่ของประธานที่จะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของเรื่องนี้ และมองหาวิธีที่จะ Lead ให้คณะกรรมการทำหน้าที่และแสดงมุมมองได้อย่างเต็มที่ในที่ประชุม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพท์ของการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ
ในโลกนี้ มีเครื่องมือหรือ Tools ต่างๆ มากมายที่มักถูกนำมาใช้ในการทดสอบเพื่อเรียนรู้ถึงลักษณะนิสัยหรือลักษณะทางความคิดของแต่ละบุคคล เพื่อที่อย่างน้อยเราจะได้ทราบถึง Personality ของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน อันจะนำมาซึ่งแนวทางในการจัดการหรือดีลกับบุคคลเหล่านั้นที่แตกต่างกันออกไป
แต่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือใด ผลลัพท์จากการวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือต่างๆ เหล่านั้นหรือแม้แต่จากประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็พอจะทำให้ทราบได้ว่าลักษณะทางนิสัยและความคิดของคนนั้นสามารถถูกแยกออกมาได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1) กลุ่มคนที่มีลักษณะใช้ความรู้สึก (Feeling) เป็นสำคัญ และ 2) กลุ่มคนที่ใช้การรับรู้ (Sensing) เป็นสำคัญ ในการตัดสินใจเรื่องใดๆ
กลุ่มคนที่ใช้ความรู้สึก (Feeling) เป็นสำคัญในการตัดสินใจ มักเป็นกลุ่มคนที่มีความเพ้อฝัน ชอบคิด จินตนาการ และใช้ความรู้สึกนำเป็นหลัก และมีความอ่อนไหวกับเรื่องต่างๆ ค่อนข้างมาก ในขณะที่กลุ่มคนที่ใช้การรับรู้ (Sensing) เป็นสำคัญ มักจะเป็นคนที่ต้องมีหลักการในการคิดและพิจารณา มีกรอบแนวทางชัดเจน ถึงจะทำการตัดสินใจได้
จากลักษณะของกลุ่มคนที่แตกต่างกันนี้ หากประธานกรรมการซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญในการนำการประชุมมีความเข้าใจ และสามารถสังเกตเห็นได้ว่าสมาชิกกรรมการในบริษัทของตนมีใครบ้างที่มีลักษณะทางนิสัยและความคิดเข้าข่ายในกลุ่มใด ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากความเข้าใจนี้มานำการประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แน่นอนว่าในการประชุมคณะกรรมการแต่ละครั้งต้องมีเรื่องให้คณะกรรมการต้องทำการตัดสินใจ และการตัดสินใจที่ดีนั้นควรจะผ่านกระบวนการตัดสินใจที่มีขั้นตอน หากประธานสามารถผนวกเอาเรื่องความแตกต่างกันในลักษณะทางนิสัยและความคิดของกลุ่มกรรมการเข้ามาร่วมด้วยในกระบวนการตัดสินใจ ก็จะทำให้ผลลัพท์การตัดสินใจนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขั้นตอนแรกของการกระบวนการตัดสินใจคือ การที่จะต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อมาประกอบการพิจารณา โดยส่วนใหญ่ คณะกรรมการจะได้รับข้อมูลพื้นฐานจากฝ่ายจัดการล่วงหน้า เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ แต่หลายครั้งที่ข้อมูลเหล่านั้นอาจจะยังไม่เพียงพอ หรือมีส่วนที่คณะกรรมการอยากจะสอบถามเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับข้อมูลที่มากขึ้น ในขั้นตอนนี้ หากประธานกรรมการสามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าใจถึงลักษณะทางนิสัยและความคิดของสมาชิกกรรมการ โดยดึงให้คนที่มีลักษณะใช้การรับรู้ (Sensing) เป็นสำคัญ ทำหน้าที่ในการตั้งคำถามกับฝ่ายจัดการ ก็จะทำให้ได้รับข้อมูลที่มากขึ้นได้ เพราะกลุ่มคนลักษณะนี้จะต้องการความชัดเจน รายละเอียด และข้อมูลที่เพียงพอจึงจะตัดสินใจได้
ภายหลังจากที่ได้รับข้อมูลเพียงพอแล้ว ขั้นตอนต่อไปของกระบวนการตัดสินใจคือ การคิดหาทางเลือกหรือทางออกสำหรับการตัดสินใจหลายๆ ทางที่เป็นไปได้ เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะสามารถพิจารณาหาทางเลือกหรือทางออกที่ดีที่สุดได้ ซึ่งในขั้นตอนของการพิจารณาทางเลือกที่ต้องอาศัยการคิดถึงความเป็นไปได้นี้ หากประธานกรรมการสามารถดึงกลุ่มกรรมการที่มีลักษณะใช้ความรู้สึก (Feeling) เป็นสำคัญมาแสดงความเห็นจากสิ่งที่ฝ่ายจัดการได้เสนอมา ก็จะทำให้ฝ่ายจัดการ รวมถึงคณะกรรมการในที่ประชุมมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ที่กว้างขึ้น สามารถมองหาหรือคิดถึงทางเลือกได้หลากหลายมากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้มีลักษณะนิสัยที่ชอบคิด และชอบจินตนาการเป็นพื้นฐาน
ขั้นตอนต่อมา คือ การพิจารณาถึงเกณฑ์ที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจทางเลือกต่างๆ เพื่อหาทางเลือกที่ดีที่สุด ในส่วนนี้ หากประธานกรรมการสามารถดึงศักยภาพของกลุ่มกรรมการที่ใช้การรับรู้ (Sensing) เป็นสำคัญมาช่วยออกความเห็นถึงแนวทางหรือเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจ ก็จะทำให้ได้เกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นหลักการมากขึ้น ทำให้คุณภาพการตัดสินใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แล้วท้ายสุดของกระบวนการตัดสินใจก็คือ การตัดสินใจและการคำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากผลลัพท์ของการตัดสินใจนั้น คณะกรรมการอาจพิจารณาใช้ศักยภาพของกลุ่มกรรมการที่ใช้ความรู้สึก (Feeling) เป็นสำคัญมาช่วยแสดงความเห็นในส่วนนี้ ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะมีความรู้สึกอ่อนไหวกับเรื่องต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้คำนึงถึงเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งต่อบริษัทและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรได้ ทำให้การตัดสินใจนั้นมีคุณภาพมากขึ้น เพราะได้คำนึงถึงผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้นร่วมด้วย พร้อมจะได้หาแนวทางในการจัดการหรือรับมือต่อไป หากผลลัพท์ดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อบริษัทหรือกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร
โดยสรุปแล้ว ประธานกรรมการจะสามารถใช้ทักษะนี้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสังเกตถึงลักษณะทางนิสัยและทางความคิดของสมาชิกคณะกรรมการ โดยอาจจะต้องใช้เวลาทำความรู้จักเพื่อที่จะพอมองออกว่ากรรมการแต่ละท่านเข้าข่ายเป็นกลุ่มคนลักษณะใด และจะได้สามารถใช้ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในกลุ่มกรรมการแต่ละประเภทได้อย่างเต็มที่ นำมาซึ่งการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อทั้งองค์กรและผู้มีส่วนได้เสีย
ธนกร พรรัตนานุกูล
ผู้อำนวยการ
สถาบันกรรมการบริษัทไทย
|