Boardroom Voice for Change: "ESG KPIs กับค่าตอบแทนผู้บริหาร"

ในยุคที่โลกเผชิญกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และแรงกดดันด้านธรรมาภิบาลจากผู้มีส่วนได้เสียรอบด้าน บทบาทของผู้บริหารองค์กรจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการแสวงหากำไรอีกต่อไป หากแต่ต้องมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าระยะยาวผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การนำตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการวัดผลการดำเนินงานขององค์กรในด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG KPIs มาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในโครงสร้างค่าตอบแทน จึงกลายเป็นกลยุทธ์ที่องค์กรทั่วโลกให้ความสนใจ และกำลังกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของธรรมาภิบาลองค์กร
ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (Key Performance Indicators: KPIs) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการกำหนดเป้าหมาย ประเมินผล และเชื่อมโยงกับระบบแรงจูงใจหรือรางวัลของผู้บริหาร โดย ESG KPIs ถือเป็นการต่อยอดแนวคิดของ KPIs จากการมุ่งเน้นผลการดำเนินงานทางการเงิน ไปสู่การคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การนำ ESG KPIs มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดค่าตอบแทนของผู้บริหาร แสดงให้เห็นถึงการสะท้อนคุณค่าระยะยาวขององค์กร มากกว่าการให้ความสำคัญเพียงแค่ผลลัพธ์ในระยะสั้น
หากพิจารณาตามกรอบมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนด KPIs ด้าน ESG สำหรับผู้บริหาร โดยเฉพาะในบริบทของการเชื่อมโยง KPIs เข้ากับโครงสร้างค่าตอบแทนผู้บริหาร สามารถสรุปแนวปฏิบัติที่สำคัญได้ดังนี้

จากแนวทางของกรอบมาตรฐานสากลที่ได้สรุปไว้ สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทยควรเตรียมความพร้อมและดำเนินการกำหนด KPIs ด้าน ESG สำหรับผู้บริหาร เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐาน IFRS S1 และ S2 โดยจะเริ่มบังคับใช้สำหรับบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 เป็นลำดับแรก ในปี 2570 และขยายผลไปยังบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2574
ทั้งนี้ จากการประเมินโครงการ ASEAN CG Scorecard ปี 2567 ของบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 100 บริษัท ณ วันที่ 31 พ.ค. 2567 พบว่า มีเพียงร้อยละ 11 ที่มีการกำหนด KPIs ด้าน ESG สำหรับผู้บริหารพร้อมอธิบายรายละเอียดอย่างชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 33 มีการกำหนด KPIs แต่ขาดการชี้แจงรายละเอียด และอีกร้อยละ 56 ยังไม่ได้มีการกำหนด KPIs ด้าน ESG แต่อย่างใด
นอกเหนือจากนั้น ในส่วนของโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (CGR) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นนี้เช่นกัน จึงพิจารณาเพิ่มหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้าไปเป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์ใหม่ของโครงการ CGR ที่จะเริ่มใช้ประเมินในปี 2570 ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนไทยที่ยังไม่ได้มีการกำหนด KPIs ด้าน ESG สำหรับผู้บริหาร ควรเร่งเตรียมความพร้อมและดำเนินการเพื่อให้ทันกับแนวโน้มตลาดทุนโลกที่ให้ความสำคัญกับ ESG เป็นอย่างมาก นักลงทุนสถาบันและผู้ถือหุ้นในยุคใหม่ ต่างให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงค่าตอบแทนของผู้บริหารบางส่วนเข้ากับผลการดำเนินงานของบริษัทด้าน ESG (ESG-linked pay) ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่แนวโน้มหรือแฟชั่นใหม่ แต่สะท้อนถึงการยกระดับธรรมาภิบาลองค์กรให้ตอบโจทย์ทั้งในมิติของผลประกอบการและความยั่งยืนในระยะยาว เพื่อสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลที่ดี และสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
ข้อมูลอ้างอิง:
• The Global Reporting Initiative, GRI Standards GRI 2: General Disclosures 2021, 2021.
• The IFRS Foundation, IFRS S1 General Requirements for Disclosure of
Sustainability-related Financial Information, 2023.
• The IFRS Foundation, IFRS S2 Climate-related Disclosures, 2023.
• The Organisation for Economic Co-operation and Development, G20/OECD Principles of Corporate Governance, 2023.
|