Green Procurement: ความร่วมมือระหว่างองค์กรและคู่ค้าสู่ความยั่งยืน
Green Procurement หรือ การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว คือ แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น กระบวนการจัดหาวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตจากทรัพยากรที่สามารถรีไซเคิลได้ การเลือกใช้พลังงานและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ หรือการขนส่งและการจัดการของเสียที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ISO14001 เป็นต้น นอกจากนี้การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวยังรวมถึงกระบวนการการคัดเลือกคู่ค้า และการสนับสนุนคู่ค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
Green Procurement เป็นกระบวนการที่ช่วยให้องค์กรลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนทั้งภายในองค์กรและในห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยจะเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น แต่ผลการสำรวจจากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (CGR) ประจำปี 2566 และ 2567 ยังพบว่า การเปิดเผยนโยบายและแนวปฏิบัติด้าน Green Procurement ของบริษัทส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับที่สามารถพัฒนาต่อไปได้อีก ดังตารางที่นำเสนอด้านล่าง
จากตารางข้างต้น บริษัทที่ได้คะแนนระดับ Excellent เป็นบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนทั้งในด้าน 1) กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และ 2) การจัดซื้อจัดจ้างตามหลักการ Green Procurement ในขณะที่บริษัทที่ได้คะแนนระดับ Poor หมายถึงบริษัทที่ยังขาดการเปิดเผยในทั้งสองประเด็นดังกล่าว สำหรับบริษัทที่ได้คะแนนระดับ Good หมายถึงบริษัทที่เปิดเผยเพียงข้อใดข้อหนึ่งเท่านั้น จะเห็นได้ว่าการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานตามหลัก Green Procurement อย่างโปร่งใส มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับรู้และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย
นอกจากนี้ จากการสำรวจโครงการ CGR ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าบริษัทที่ได้คะแนนในระดับ Excellent มีการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือกับคู่ค้าเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในด้าน Green Procurement อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
1) การกำหนดมาตรฐานร่วมกัน
ผู้บริหารและกรรมการร่วมกันกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับคู่ค้า เช่น จรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) หรือเป็นนโยบายแยกต่างหาก เพื่อสร้างความเข้าใจในมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว โดยบริษัทและคู่ค้าสามารถร่วมกันตั้งเกณฑ์การวัดผลที่ชัดเจน เช่น เป้าหมายการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในการผลิต หรือการลดการใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
2) กระบวนการประเมิน และคัดเลือกคู่ค้าสีเขียว
การจัดทำแบบประเมินเพื่อคัดเลือกคู่ค้าที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร รวมถึงแบบประเมินเพื่อวัดประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานของคู่ค้าว่าตรงตามเกณฑ์มาตรฐานที่องค์กรกำหนดหรือไม่
3) พัฒนาทักษะและเสริมสร้างศักยภาพร่วมกัน
บริษัทสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุน Green Procurement ร่วมกับคู่ค้า โดยส่งเสริมการฝึกอบรมและเสริมสร้างความรู้แก่พนักงานทุกระดับเพื่อให้เห็นความสำคัญของการจัดหาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ระหว่างองค์กรและคู่ค้า พร้อมทั้งสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติ Green Procurement อย่างชัดเจน
4) ขับเคลื่อนนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
กรรมการและผู้บริหารสนับสนุนให้บริษัทและคู่ค้าร่วมมือกันในโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วัสดุ กระบวนการผลิต ไปจนถึงการขนส่งอย่างยั่งยืน
5) ติดตามผลและรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงาน
บริษัทติดตามผลการดำเนินงานด้าน Green Procurement ของคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และรายงานผลการดำเนินงานในรายงานประจำปีหรือรายงานด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร โดยประเมินผลการดำเนินงานเพื่อให้แน่ใจว่าสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งมีการประเมินและปรับปรุงนโยบายและเกณฑ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการปรับตัวร่วมกับคู่ค้า
6) แผนพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้า
บริษัทอาจพิจารณาจัดการประชุมคู่ค้าประจำปี เพื่อสื่อสารให้คู่ค้าได้รับทราบเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ แผนการดำเนินงาน ข้อบังคับทางกฎหมาย ตลอดจนกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้คำแนะนำและวางแผนพัฒนาศักยภาพคู่ค้าที่ผลการประเมินยังไม่ถึงเกณฑ์
การบูรณาการการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวเข้ากับกลยุทธ์องค์กร ไม่เพียงแต่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับคู่ค้าเท่านั้น แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยให้คู่ค้าลดต้นทุนการผลิตผ่านการประหยัดพลังงานและการลดของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ความชัดเจน โปร่งใส และการวัดผลที่เป็นรูปธรรมในการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวยังช่วยเพิ่มโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนภายนอกได้อีกด้วย ส่งผลให้ทั้งบริษัทและคู่ค้าสามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาว
อรกานต์ จึงธีรพานิช
Assistant Manager – R&D Management and Advocacy
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai IOD)
|