Key Trends for Board in 2020
Key Trends for Board in 2020:
เรื่องสำคัญที่กรรมการควรเตรียมพร้อมและปรับตัว ในปี 2563
ปีที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ Board ต้องทุ่มเททำงานภายใต้ความผันผวนของปัจจัยต่าง ๆ ทั้งเรื่องสภาพเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2563 ยังมีความท้าทายใหม่รอให้ Board เข้ามากำกับดูแล Key Trends ด้าน CG สำหรับปี 2563 ที่ Board ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษและเตรียมความพร้อม มีดังนี้
· ESG Policy: แนวทางการดำเนินงานแบบ ESG หรือการดำเนินงานโดยยึดหลักความสำคัญของสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) ถือได้ว่าเป็นกระแสในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสำหรับปีนี้เทรนด้าน “E” ได้กลายเป็นประเด็นหลักสำหรับหลายภาคส่วน โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับผู้คนจำนวนมากคงหนีไม่พ้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆที่เพิ่มขึ้น เช่น ไฟป่า ภัยแล้ง สถานการณ์ขยะพลาสติก และฝุ่น PM2.5 เป็นต้น ในมุมมองของผู้ถือหุ้นและนักลงทุนจึงมีความคาดหวังที่จะเห็นความรับผิดชอบของบริษัทต่อการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งนโยบายและแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพต่อเรื่องดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและนักลงทุนได้
จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าบริษัทที่ได้รับการประเมินข้อมูลด้านความยั่งยืนเพื่อดูผลการดำเนินงานย้อนหลังในช่วง 10 ปี แสดงให้เห็นว่าบริษัทที่ยึดหลัก ESG สามารถสร้างผลการดำเนินงานในส่วนของกำไรสุทธิได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลจาก Thailand Sustainability Investment, SET) และจากผลการสำรวจของ Callan Institute ยังสนับสนุนว่าจำนวนนักลงทุนสถาบันที่มีการนำหลักการ ESG เข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจลงทุน มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 22 % ในปี 2013 เป็น 42 % ในปี 2019 อีกด้วย โดยนักลงทุนสถาบันเหล่านั้นมีความเชื่อมั่นว่าบริษัทที่ยึดหลักการดำเนินงาน ESG จะเป็นบริษัทที่สร้างความยั่งยืน และผลกำไรที่เติบโตให้แก่นักลงทุนในระยะยาวได้ (ข้อมูลจาก 2019 ESG Survey, Callan Institute)
· Digital Transformation: คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในวงกว้างด้วย ซึ่งปัญหาหลักขององค์กรส่วนใหญ่ที่พบ คือ “ขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ” และ “การปรับตัวไม่ทันกระแส Disruption” สำหรับแนวทางการรับมือกับปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้น คือ Board จำเป็นต้องเรียนรู้และก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ควรมีการประเมินความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวเป็นประจำ รวมทั้งพิจารณาว่าเทคโนโลยีที่บริษัทกำลังใช้อยู่นั้นมีความทันสมัยและเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวหรือไม่
นอกเหนือจากการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและการทบทวน Business Model ของธุรกิจแล้ว การสร้างทักษะแก่บุคลากรให้มีความรู้ในด้านดิจิตอลก็เป็นสิ่งสำคัญ จากผลสำรวจของสถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 113 ราย ในช่วงเดือนกันยายน 2562 จากองค์กรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าองค์กรไทย 49.11% มีความรู้ความเข้าใจ AI อยู่ในระดับเบื้องต้น 30.36% มีความรู้ความเข้าใจ AI ในระดับพอใช้ 11.60% มีความรู้ความเข้าใจ AI ในขั้นดี และ 8.93% ที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจใน AI เลย นอกจากนี้การสำรวจยังพบว่าผู้บริหารระดับสูงในองค์กรไทย 50% เห็นความสำคัญของการนำ AI มาประยุกต์ใช้เป็นพิเศษ ขณะที่ 35.1% เห็นว่าสำคัญปานกลาง และ 14.29% ยังไม่ให้ความสำคัญและยังไม่มีการกล่าวถึง AI ในองค์กร ดังนั้น จะเห็นได้ว่าองค์กรไทยยังต้องเน้นเรื่องการพัฒนาองค์ความรู้ของบุคคลากรในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้สามารถปรับตัวให้ทันต่อโลกใหม่ในการทำงาน ซึ่งวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในยุคการเปลี่ยนแปลงทางดิจิตอล การกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม และการพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ธุรกิจพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยเปิดโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ และช่วยยกระดับให้องค์กรมีความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้นได้ด้วย
· Board Composition: ในปี 2563 แนวโน้มเกี่ยวกับโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ได้แก่
- ความหลากหลายของคณะกรรมการ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ยังคงยกเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นสำคัญต่อเนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา ในขณะที่บางประเทศต้องการผลักดันให้ทุกบริษัทมีสัดส่วนกรรมการหญิงในปี 2563 ที่เพิ่มขึ้น เช่น ในประเทศญี่ปุ่น นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีได้ตั้งเป้าหมายให้สตรีญี่ปุ่นมีบทบาทในสังคมมากขึ้น หรือที่เรียกว่า “Womenomics” โดยประกาศเป้าหมายให้สตรีญี่ปุ่นอยู่ในตำแหน่งบริหาร สัดส่วนร้อยละ 30 ภายในปี 2563
นอกจากความหลากหลายเรื่องเพศแล้ว แนวโน้มที่ทั่วโลกให้ความสนใจเพิ่มขึ้น คือเรื่องความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติของกรรมการ ซึ่งพบว่าหลายบริษัทที่มีกรรมการจากต่างชาติอยู่ใน Board จะช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และทัศนคติที่กว้างขึ้น เพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหาจากการทำงานได้ดีขึ้น และช่วยให้บริษัทเกิดการเรียนรู้และพัฒนามากขึ้น เนื่องจากกรรมการจากต่างชาติถือเป็นแหล่งที่มาขององค์ความรู้ใหม่ ๆ ทั้งด้านวัฒนธรรม ภาษา และนวัตกรรม
- สัดส่วนกรรมการอิสระที่เพิ่มขึ้น จากการส่งเสริมเรื่องความสำคัญของกรรมการอิสระในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าบริษัทจดทะเบียนไทยมีแนวโน้มสัดส่วนกรรมการอิสระใน Board สูงขึ้นในทุก ๆ ปี โดยบริษัทที่มีสัดส่วนของกรรมการอิสระเกินครึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนกรรมการทั้งหมด เพิ่มจาก 11% ในปี 2559 เป็น 16% ในปี 2562 (ข้อมูลจาก Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2019, IOD) นอกจากนี้การแต่งตั้งให้มี Lead Independent Director ในกรณีที่บริษัทไม่ได้มีประธานกรรมการที่เป็นกรรมการอิสระก็มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญนอกเหนือไปจากสัดส่วนกรรมการอิสระที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว บริษัทควรส่งเสริมให้กรรมการอิสระเหล่านั้นเป็นกรรมการที่มีคุณภาพ และทำหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระจริงๆ ด้วย ยกตัวอย่างของประเทศอินเดียที่ The Ministry of Corporate Affairs (MCA) ได้ออกข้อบังคับให้กรรมการอิสระต้องทำการทดสอบความรู้ความเชี่ยวชาญของตน ผ่านการทำแบบทดสอบ online proficiency test ซึ่งจัดโดย The Indian Institute of Corporate Affairs (IICA) โดยเป็นการประเมินในเรื่อง กฎหมายบริษัทมหาชน กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ บัญชีเบื้องต้น และความรู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่กรรมการอิสระ ซึ่งกรรมการอิสระต้องได้คะแนน 60% ขึ้นไป จึงจะผ่านการทดสอบและถือว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระได้ (ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง Online Proficiency Self Assessment Test: https://iica.nic.in/cid_Proficiency.aspx)
- คณะกรรมการชุดย่อยอื่น ๆ นอกเหนือจากคณะกรรมการตรวจสอบที่ต้องจัดให้มีตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือคณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนที่บริษัทพิจารณาจัดให้มีขึ้นแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าบางบริษัทเริ่มมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเฉพาะด้านขึ้น เพื่อช่วยติดตามและกำกับดูแลการดำเนินงานเฉพาะเรื่องอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เช่น คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายด้าน IT คณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจัดให้มีคณะกรรมการชุดย่อยเฉพาะขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเหมาะสมของแต่ละบริษัท โดยต้องพิจารณาจากสภาพและขนาดของธุรกิจเป็นหลักด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวโน้มด้าน CG บางส่วนที่ Board ควรเตรียมรับมือในปี 2563 อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ Board ต้องมีการตื่นตัวและเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่อาจเข้ามากระทบกับองค์กรนอกเหนือจากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นด้วย หาก Board สามารถมองเห็นโอกาสจากความเสี่ยงและสามารถบริหารจัดการได้ เชื่อว่าปี 2563 จะเป็นปีที่องค์กรสามารถก้าวไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิผลได้ไม่ยาก
|