Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
Design Thinking “Boardroom”

หลัง COVID-19 การทำงานของคณะกรรมการบริษัทต้องถูกปรับเปลี่ยนหรือไม่ การทำงานในสถานการณ์ที่แกว่งตัวแรง แปรปรวนตลอดเวลา มีความซับซ้อน มองทะลุได้ยาก (VUCA) คณะกรรมการจะสนับสนุนฝ่ายบริหารเพื่อนำองค์กรไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร

Design Thinking เป็นแนวคิดการออกแบบที่วิเคราะห์ปัญหาผ่านมุมมองของผู้ใช้ ไม่ใช่ผู้ผลิต ใช้การทำความเข้าใจ การเห็นอกเห็นใจผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจุดตั้งต้น ก่อนจะหาวิธีแก้ที่เหมาะสม จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์และการให้บริการรอบตัวเรา เช่น Apple Mouse ตัวแรก Airbnb และ Uber Eats

เราลองมาคิดเล่นๆ ไปพร้อม ๆ กันว่า หากทำได้ เราอยากเห็นการทำงานระหว่างคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหารแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร ต้องบอกก่อนว่า ไม่ได้หมายความว่า ปัจจุบันไม่ดีนะครับ แต่ด้วยอัตราเร่งของโลกหลังวิกฤตไวรัส คณะกรรมการที่ทำหน้าที่เป็น “สติ” และฝ่ายบริหารที่เปรียบเสมือน “สมอง” ขององค์กรจะทำงานสอดรับกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้องค์กรได้อย่างไร

เหมือนกระบวนการ Design Thinking ทั่วไปที่อาจเริ่มโดยถาม user แต่ user สำหรับคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายบริหารที่ต้องคำนึงถึงคือใคร.. ผู้ถือหุ้น.. ลูกค้า.. คู่ค้า.. พนักงาน.. ภาครัฐ.. สังคม..

ท่านกรรมการเองก็คงอยากได้ข้อมูลของธุรกิจที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น ต่อเนื่องขึ้น ข้อมูลเกี่ยวโยงกับความเป็นไปของ Stakeholders มากขึ้น กรรมการอาจต้องการหารือกับฝ่ายบริหารถึงสมมติฐานสำคัญที่กำลังเปลี่ยนไป เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค

ผู้บริหารเองอาจรู้สึกว่า กระบวนการของการประชุมคณะกรรมการที่เป็นครั้งๆ ในปัจจุบัน โดยมีวาระที่มีการกำหนดข้ามปี อาจไม่คล่องตัวสำหรับสถานการณ์ที่พลิกผันอย่างต่อเนื่อง

ผู้ถือหุ้นอาจเริ่มถามว่า พวกเขาจะวัดประสิทธิภาพการทำงานระหว่าง “สติ” และ “สมอง” ขององค์กรได้อย่างไร ความเชื่อมโยงผลประกอบการที่ยั่งยืนกับการทำงานนั้นวัดอย่างไร

ลูกค้าอาจเริ่มถามว่า ในทุกบาททุกสตางค์ที่ชำระเพื่อซื้อสินค้า เขารู้ได้อย่างไรว่า มันคุ้มค่า อาจไม่ใช่ความคุ้มค่าของสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรโลก เงินของเขากำลังไปพัฒนาอนาคตของสิ่งแวดล้อมและสังคม หรือมันกำลังไปกระตุ้นผลกระทบเชิงลบกับอนาคตของลูกหลาน องค์กรจะอธิบายกับเขาอย่างไร

พนักงานอาจเริ่มถามว่า องค์กรช่วยพัฒนาศักยภาพของเขาอย่างไร ช่วยเตรียมความพร้อมให้เขาในโลกแห่งความไม่แน่นอนอย่างไร หากเขาจะต้องลงทุนเวลาแห่งชีวิตกับองค์กร ความคุ้มค่าและความหมายที่มากกว่าเงินเดือนคืออะไร องค์กรจะช่วยเขาตอบโจทย์ชีวิตอย่างไร

วันนี้เราคงไม่มีคำตอบว่า Boardroom หลังวิกฤตไวรัสควรเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ คือ เราต้องเริ่มจาก “เข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา” การทำ Empathy กับ Stakeholders ขององค์กรตามหลัก Design Thinking น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะครับ... ขอเอาใจช่วยทุกท่านนะครับ...

กุลเวช เจนวัฒนวิทย์
กรรมการผู้อำนวยการ
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
10 พฤษภาคม 2563



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand