คำถามที่คณะกรรมการควรถามฝ่ายจัดการ เพื่อรับมือกับการกลับมาระบาดรอบใหม่ของ COVID-19
คำถามที่คณะกรรมการควรถามฝ่ายจัดการ เพื่อรับมือกับการกลับมาระบาดรอบใหม่ของ COVID-19
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบให้ธุรกิจหลายแห่งล้มทั้งยืน บางแห่งไม่สามารถแม้แต่จะกลับมาลุกขึ้นยืนได้อีก ธุรกิจที่ยังสามารถดำเนินงานต่อได้ต่างต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อต้องกลับมาดำเนินธุรกิจหลังสถานการณ์ดีขึ้น ต้องปรับแนวทางการทำงานให้เป็นไปตามมาตรการของภาครัฐและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การจัดให้มีการคัดกรองและการออกมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด Social Distancing, Flexible Hours, Work from Home ไปจนถึงการทำงานและการประชุมออนไลน์ เป็นต้น
แม้ว่า สถานการณ์ภายในประเทศไทยจะดีขึ้นจากการไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่โอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2-3 ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เห็นตัวอย่างได้จากประเทศใกล้เคียงอย่างจีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ที่กำลังประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่
ท่านในฐานะกรรมการได้เคยตระหนักถึงความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ บางท่านอาจมีคำถามว่า “ทำไมเรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องของท่านหล่ะ นี่เป็นหน้าที่ของฝ่ายจัดการต่างหาก” คำตอบของคำถามนี้ ก็คือ เพราะในขณะที่ฝ่ายจัดการกำลังพุ่งความสนใจไปกับความพยายามในการกอบกู้และฟื้นฟูธุรกิจในวันนี้ให้อยู่รอดต่อไปได้อย่างเร็วที่สุด จึงอาจทำให้ไม่มีเวลามากพอและมองข้ามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่คณะกรรมการสามารถใช้เพื่อกระตุ้นให้ฝ่ายจัดการตระหนักถึงสิ่งที่อาจมองข้ามไปและช่วยให้องค์กรหลุดพ้นจากการเผชิญปัญหาซ้ำเดิมอีก นั่นก็คือ “การตั้งคำถามที่เหมาะสม” ซึ่งคำถามที่คณะกรรมการควรถามฝ่ายจัดการเพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินงานในปัจจุบันให้มีความยืดหยุ่นและสอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ มากขึ้น ได้แก่
- จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา อะไรคือความเสี่ยง อะไรคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้และควรจะนำมาผนวกเข้ากับการดำเนินธุรกิจปกติขององค์กร
- มีการทำงานแบบไซโลอะไรบ้างที่ควรทลายลงในช่วงที่เราจะเริ่มปรับการดำเนินธุรกิจ ฝ่ายจัดการควรปรับการทำงานเป็นรูปแบบใด และทำอย่างไรให้การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นนั้นอยู่องค์กรต่อไปอย่างถาวร
- รูปแบบการดำเนินงาน (Operating Model) อะไรที่ทำให้เราไม่สามารถรับมือกับวิกฤติได้
- มีการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกบ้างที่อาจทำให้รูปแบบธุรกิจ (Business Model) ของเราไม่สามารถรับมือเมื่อเกิดวิกฤติได้
ทั้งนี้การตั้งคำถามข้างต้นนั้น สามารถใช้เพื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานภายในให้รองรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และประคับประคองให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ภายหลังจากเกิดวิกฤต COVID-19 อย่างไรก็ตามคณะกรรมการควรจะตั้งคำถามเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กรในระยะยาวด้วยเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์ของ COVID-19 อาจกลับมาแพร่ระบาดอีกเป็นระลอก 2-3 ซึ่งอาจรวดเร็ว รุนแรง และยืดเยื้อกินเวลายาวนานจนไม่อาจคาดเดาได้ยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นในครั้งแรก โดยคำถามที่คณะกรรมการควรถามฝ่ายจัดการเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดจากการมุ่งเน้นแค่การทำเพื่อวันนี้เป็นการมองไกลไปถึงอนาคตในวันข้างหน้าขององค์กรมากขึ้น ได้แก่
- เรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์: เราได้มีการยกระดับการบริหารจัดการวิกฤตให้เป็นการบริหารจัดการที่มีแผนงานเป็นรูปธรรมชัดเจนแล้วหรือไม่
- เรื่องการมุ่งเน้นเป้าหมายสำคัญ: เราได้หันกลับไปให้ความสนใจกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาแล้วหรือยัง
- เรื่องการวางแผน: เราได้พิจารณาถึงสถานการณ์อื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้แล้วหรือยัง และสถานการณ์เหล่านั้นส่งผลกระทบต่อแผนที่จะกอบกู้หรือฟื้นฟูธุรกิจขององค์กรหรือไม่ อย่างไร
- เรื่องทัศนคติ: เราจะสร้างธุรกิจใหม่ได้อย่างไร อะไรคือรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ใหม่ที่จำเป็นต่อองค์กร
จากปัจจัยเสี่ยงนานัปการที่นับวันจะยิ่งมากขึ้นและส่งผลกระทบที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นดังเช่นที่เห็นกันในปัจจุบัน กรณี COVID-19 อาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นหรือเสี้ยวเล็กๆ ของความท้าทายยิ่งใหญ่ที่องค์กรกำลังจะเผชิญในภายภาคหน้า ซึ่งหนึ่งบทพิสูจน์ความสามารถที่แท้จริงของคณะกรรมการในครั้งนี้มีเดิมพันสูงด้วยการอยู่รอดหรือล้มเหลวขององค์กรเลยทีเดียว
ที่มา: ดัดแปลงข้อมูลบางส่วนมาจากบทความ Business recovery from COVID-19: A Guide for Board Members, Deloitte
เบญญาดา กำลังเสือ
ผู้เชี่ยวชาญ CG อาวุโส
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)
|