ปัจจัยผลักดันความสำเร็จของกรรมการในยุค New Normal
ปัจจัยผลักดันความสำเร็จของกรรมการในยุค New Normal
ปัจจุบันคณะกรรมการต้องเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนนานับปการ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นจากหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤต COVID-19 ในปัจจุบันที่กำลังนำไปสู่ "ภาวะปกติใหม่" หรือ New Normal ในรูปแบบที่ไม่อาจคาดเดาได้ เพื่อตอบสนองกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปและสามารถบรรลุความสำเร็จได้ในอนาคต องค์กรต่างๆ จึงหันมาให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและสร้างนวัตกรรมกันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าคณะกรรมการซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ณ วันนี้พวกเขามีความพร้อมสำหรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
RSR Partners บริษัทที่ปรึกษาทางด้านการกำกับดูแลสำหรับคณะกรรมการและ CEO ได้จัด Roundtable ขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยให้กรรมการที่เข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในช่วงที่นำพาองค์กรฝ่าวิกฤตและผลักดันจนเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ "ภาวะปกติใหม่" ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า การหยุดชะงักของธุรกิจทั่วโลกและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้มีความต้องการให้คณะกรรมการเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ทักษะและประสบการณ์ของคณะกรรมการเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกำหนดทิศทางได้อย่างมั่นใจ และคุณลักษณะของความเป็นผู้นำจะยิ่งช่วยส่งเสริมให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น
คุณลักษณะของกรรมการที่จะประสบความสำเร็จใน “ภาวะปกติใหม่”
RSR Partners ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของกรรมการบริษัทมหาชนที่ติดอันดับ Fortune 50-1000 จำนวนกว่า 250 คน พบว่า คุณลักษณะ 5 ลำดับแรกที่คณะกรรมการควรจะมีในภาวะปกติใหม่ ได้แก่
1. Stewardship
จากผลสำรวจความคิดเห็นชี้ให้เห็นว่า การรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม (Stewardship) เป็นคุณลักษณะที่ต้องการมากที่สุดสำหรับคณะกรรมการในภาวะปกติใหม่ คณะกรรมการจำเป็นต้องให้คำแนะนำและให้การสนับสนุนที่มากขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อความอยู่รอดของธุรกิจ นับตั้งแต่การรักษาชื่อเสียงไปจนถึงการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ทั้งกับนักลงทุน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงและปลอดภัยให้แก่พนักงานซึ่งจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งตามมา นอกจากนี้ การช่วยเหลือสังคมในเชิงบวกจะส่งผลดีทั้งต่อสังคมและต่อผลการดำเนินงาน การรับฟังพนักงานและลูกค้า รวมทั้งการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในประเด็นที่เกิดขึ้นทางสังคม คณะกรรมการสามารถสร้างความเป็นผู้นำโดยการส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมเหล่านี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความแข็งแกร่งในการกำกับดูแลกิจการที่ดี
2. Ability to Pivot
การดำเนินธุรกิจตามปกติอาจหยุดชะงักอย่างไม่ทันตั้งตัว คณะกรรมการควรตระหนักและดูแลให้มี "แผนปรับเปลี่ยน" (Ability to Pivot) ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสีย ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารปรับกลยุทธ์เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าด้วยการยกเว้นการจ่ายค่าธรรมเนียมล่าช้า การให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) การปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถประชุมผ่านทางวิดีโอด้วยระบบต่างๆ อาทิ Zoom, Microsoft Teams, Google Meet เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงแรงขับเคลื่อนทางนวัตกรรม แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมเพื่อแก้ปัญหาและปรับตัวด้วย
3. Learning Agility
การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานจากระยะไกลควรมีการพัฒนาที่รวดเร็ว นอกจากจะช่วยให้พนักงานหลายตำแหน่งสามารถทำงานได้ดีขึ้น กระบวนการทำงานก็เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นการช่วยต่อยอดให้องค์กรสามารถดึงดูดและรักษาผู้ที่มีความสามารถให้เข้ามาร่วมงานและอยู่กับองค์กรได้มากขึ้น นอกจากนี้ ควรมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรด้วย เช่น การลดการใช้พลังงาน การใช้เงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ การใช้พื้นที่สำนักงานแบบเปิด เป็นต้น ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและผลลัพธ์ที่ตามมาเหล่านี้ หากคณะกรรมการพร้อมเปิดรับเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น มองการณ์ไกลและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลาดและธุรกิจ มองเห็นความเสี่ยงและกำกับดูแลให้บรรลุตามเป้าหมาย รวมถึงพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอย่างต่อเนื่อง ย่อมจะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างความได้เปรียบและโอกาสทางการแข่งขันได้มากขึ้น
4. Champions of Change
ความไม่แน่นอนทำให้นักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียเกิดความกังวล คณะกรรมการจะต้องสามารถคาดการณ์และตอบสนองต่อสภาวะตลาดและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการจะต้องสามารถช่วยชี้นำองค์กรให้ปฏิบัติตามแนวทางหรืออาจจะต้องลงมือปฏิบัติเพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริหารมีความสามารถและพร้อมสนับสนุนให้พนักงานคิดนอกกรอบและปรับตัว แต่คณะกรรมการในวันนี้เปิดใจรับกับการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้หรือไม่ คณะกรรมการในวันนี้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมให้ผู้บริหารคิดอย่างสร้างสรรค์หรือไม่ พนักงานในวันนี้สามารถสร้างความสมดุลระหว่างงาน ครอบครัว ความเสี่ยง การเงิน และสุขภาพได้หรือไม่ เป็นบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการในการดูแลให้องค์กรมีนโยบาย กระบวนการ และการสื่อสารที่ชัดเจน เหมาะสม และปรับเปลี่ยนได้ทันเวลา
5. Reimagination
มีหลายบริษัทที่เฟื่องฟูในช่วงวิกฤตและยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับโฉมธุรกิจใหม่ของตน (Reimagination) ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม การวิเคราะห์ข้อมูล การบริการลูกค้า และการสร้างความจงรักภักดี สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะมีความสำคัญมากขึ้น ในขณะที่กลยุทธ์การนำสินค้าและบริการออกสู่ตลาดอาจจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำทักษะใหม่ๆ มาใช้ให้เหมาะสม คณะกรรมการสามารถมองเห็นภาพและวิวัฒนาการขององค์กรตนเองหรือไม่ เมื่อองค์กรมาถึงช่วงของการเปลี่ยนผ่านนั้น ไม่ว่าจะเป็นความเร็ว การรักษาความเชื่อมั่น หรือการกำหนดกลยุทธ์ในอนาคตล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คณะกรรมการได้สนับสนุน ส่งเสริม และช่วยองค์กรในการระบุความเสี่ยงและโอกาส ประเมินทางเลือก และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและรักษาผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ ซึ่งหากคณะกรรมการตระหนักถึงความสำคัญและดำเนินการอย่างรวดเร็ว ก็มีแนวโน้มที่องค์กรจะเป็นผู้ชนะและอยู่รอดต่อไปได้
เราอยู่ในช่วงเวลาของโอกาสและทางเลือกมากมาย องค์กรใดที่ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงย่อมจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางของธุรกิจ ส่วนองค์กรใดที่ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงย่อมจะสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร รูปแบบการทำงาน รวมถึงการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ จึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญของคณะกรรมการในการแสดงบทบาทของการเป็นผู้นำองค์กรที่แท้จริง
เบญญาดา กำลังเสือ
Senior CG Specialist – Curriculum and Facilitators
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)
|