Driving Innovation in Boardroom
คำว่า “นวัตกรรม” ถูกใช้อย่างแพร่หลายในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในเชิงธุรกิจ และผลกระทบจากโรคระบาด COVID-19 “นวัตกรรม” นับเป็นกลยุทธ์สำคัญในการ “ฝ่าวิกฤติ” คู่ขนานไปกับการเพิ่มศักยภาพ ประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงความยั่งยืนให้กับองค์กรในอนาคต
หลายองค์กรได้ให้ความสำคัญและทุ่มเททรัพยากรเพื่อวิจัยและสร้างนวัตกรรมในด้านต่างๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมนวัตกรรม (Innovation Committee) หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ แต่การขับเคลื่อน “นวัตกรรม” ขององค์กร ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และการผลักดันของคณะกรรมการซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางดังกล่าว
ธันวาคม 2564 The Institute of Corporate Directors Malaysia (ICDM) จัด Virtual Talk ในหัวข้อ “2022 ASEAN Board Trends: What Keeps You Awake at Night?” ซึ่งน่าสนใจมาก มีการเสนอผลการสำรวจ “2022 ASEAN Board Trend Report: Driving Innovation for Sustainability” ที่รวบรวมจากความเห็นของกรรมการบริษัทมหาชน 250 คน ใน ASEAN IOD Network ซึ่งมี Thai IOD รวมอยู่ด้วย ผลการสำรวจบ่งบอก 5 แนวทาง (ตามลำดับความสำคัญ) ที่กรรมการต้องให้ความสนใจ
1.นวัตกรรม (Innovation) และการเปลี่ยนแปลง (Transformation)
2.การนำหลักการ ESG ไปปรับใช้ในองค์กร
3.การเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลความเสี่ยง (Risk) และความยั่งยืน (Sustainability) ขององค์กร
4.การเสริมสร้างทักษะและความรู้สำหรับการปฏิบัติหน้าที่กรรมการอย่างสม่ำเสมอ
5.การขยายบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ
จะเห็นว่า “นวัตกรรม” เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่ board ต้องให้ความสนใจในปีนี้ สำคัญพอๆ กับความคล่องตัวของโมเดลธุรกิจ ความหลากหลายภายในองค์กร และการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอย่างมากมาย
จากรายงานของ ICDM สรุปว่า หากจะขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนใน 2-3 ปีข้างหน้า คณะกรรมการต้องยึดกลยุทธ์ในเรื่องใดเป็นหลัก (ภาพที่ 1) ในการใช้กลยุทธ์นั้นๆ ต้องเผชิญความท้าทายในด้านใดบ้าง (ภาพที่ 2) และ เมื่อมองในส่วนของกรรมการ ต้องปรับปรุงอะไรหรืออย่างไรเพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามที่คาดหมาย (ภาพที่ 3)
IOD ขอแถมท้ายบทความนี้ด้วย “การจัดอันดับความสามารถด้านนวัตกรรม ประจำปี 2021” ในภาวะการระบาดของ COVID-19 จัดทำโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (the World Intellectual Property Organization: WIPO) ได้สำรวจ132 ประเทศทั่วโลก และเป็นที่น่ายินดีที่กลุ่ม ASEAN ติดอันดับ Top 50 ถึง 4 ประเทศ ได้แก่: สิงคโปร์ (8), มาเลเซีย (36), ไทย (43), และเวียดนาม (44) มีเพื่อนสมาชิกที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก คือ ประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีการพัฒนาในด้าน “นวัตกรรม” ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ทำให้ก้าวกระโดดจากอันดับ 100 ในปี 2014 มาเป็นอันดับ 51 ในปี 2021
สำหรับประเทศไทย เราโดดเด่นมากที่สุดในเรื่องระบบตลาดและระบบธุรกิจ มีการตื่นตัวและลงทุนในการวิจัยและพัฒนา “นวัตกรรม” ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างสูง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับและการบริการนำเข้า-ส่งออกเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การให้ความรู้-ฝึกอบรมแก่พนักงาน และต้นทุนการวิจัยและพัฒนาจากต่างประเทศมีราคาสูง ด้วยเหตุผลดังกล่าวสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงตั้งเป้าไว้ว่าจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องช่วยกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นชาติผู้นำแห่งนวัตกรรม และอยู่ใน Top 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลกภายในปี 2030
ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและสนับสนุน ได้บรรจุแนวคิดเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรมเป็นหลักปฏิบัติของคณะกรรมการไว้ใน CG Code ตั้งแต่ปี 2560 ดังนี้
- (ข้อ 2.2) คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้มั่นใจว่า วัตถุประสงค์และเป้าหมาย ตลอดจนกลยุทธ์ในระยะเวลา
ปานกลาง และ/หรือประจำปีของกิจการสอดคล้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการ
โดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย
- (ข้อ 5.1) คณะกรรมการควรให้ความสำคัญและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าแก่ธุรกิจ
ควบคู่ไปกับการสร้างคุณประโยชน์ต่อลูกค้าหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
เพื่อเป็นการสนับสนุนและให้ความสำคัญด้าน “นวัตกรรม” IOD ได้หารือร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ในการปรับปรุง “หลักเกณฑ์การสำรวจโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย ประจำปี 2566 (CGR)” และได้เพิ่มหัวข้อการประเมินเพื่อส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมไว้ในหมวดการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียและการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนด้วยเช่นกัน
(ข้อที่ 41) บริษัทเปิดเผยนโยบายและแนวทางส่งเสริมนวัตกรรมของบริษัทที่อาจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี กระบวนการทำงาน สินค้าและ/หรือบริการ หรือโมเดลธุรกิจ
- (ข้อที่ 42) บริษัทเปิดเผยแผนงานและผลการพัฒนานวัตกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี กระบวนการทำงาน สินค้าและ/หรือบริการ หรือโมเดลธุรกิจ
นอกจากกำหนดเกณฑ์ให้เป็นมาตรฐานแล้ว IOD ได้เผยแพร่ความรู้-ความเข้าใจเรื่องนวัตกรรมให้บริษัทจดทะเบียน ผ่านการทำ Workshop การออกคู่มือแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการในการกำกับดูแลและส่งเสริมนวัตกรรม และการจัดหลักสูตรฝึกอบรมและสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ Innovation Governance
ตามที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่า นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คณะกรรมการต้องให้ความสำคัญและสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ฝ่ายบริหารและพนักงาน เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรในการเรียนรู้ พัฒนา และปรับปรุงการทำงานอยู่เสมอ บางหน่วยงานอาจเข้าใจว่าเรื่อง “นวัตกรรม” เป็นเรื่องเฉพาะที่ต้องสร้างขึ้นใหม่และสิ้นเปลือง แต่ในความเป็นจริงการใช้ “นวัตกรรม” เพื่อแก้ปัญหาในการดำเนินงานได้อย่างถูกที่และถูกเวลา กลับเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะ Startup SMEs ที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เมื่อ “นวัตกรรม” กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรไม่เพียงเป็นการขับเคลื่อน “นวัตกรรม” ระดับประเทศเท่านั้นแต่จะขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับภูมิภาคในที่สุด
อรกานต์ จึงธีรพานิช
Senior CG Analyst – Research and Development
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
|