Covid-19 VS ค่าตอบแทนกรรมการ (Covid-19 VS Director Compensation)
การแพร่ระบาดของ Covid-19 นับตั้งแต่ปี 2563 ทำให้มีการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ส่งผลให้เกิดความถดถอยของภาวะเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคทั่วโลก ธุรกิจต่างๆได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า หลายบริษัทต้องล้มหายตายจากไป ส่วนที่อยู่ต่อก็ต้องมีการวางแผนทางด้านการเงิน และควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด มีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก รวมถึงมีการปรับโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนทั้งองค์กร ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อพนักงานและผู้บริหารขององค์กรเท่านั้น ในบางบริษัทมีการพิจารณาปรับค่าตอบแทนของกรรมการด้วย ซึ่งมีทั้งการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนกรรมการในอัตราเท่าเดิม ปรับเพิ่มขึ้น หรือปรับลดลง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการเป็นสำคัญ
การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการนั้น ต้องพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญที่ครอบคลุมในหลากหลายด้าน ได้แก่ ผลการดำเนินงานของบริษัท หน้าที่และความรับผิดชอบ การใช้ความรู้และประสบการณ์ของกรรมการที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรและผู้ถือหุ้น การเปรียบเทียบค่าตอบแทนกับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน สภาวะและตัวเลขทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งแต่ละบริษัทกำหนดค่าตอบแทนจากปัจจัยดังกล่าวด้วยน้ำหนักในการพิจารณาที่แตกต่างกันออกไป ผลจากการสำรวจแนวปฏิบัติในการปรับค่าตอบแทนกรรมการที่ IOD จัดทำขึ้นทุก 2 ปี และการศึกษาผลสำรวจจากต่างประเทศ มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ผลสำรวจ “How Coronavirus is Affecting Director Compensation” ของ Pearl Meyer ซึ่งศึกษาผลกระทบของ Covid-19 ต่อการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ(ในรูปตัวเงิน) ในปี 2563 จากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 315 บริษัท (บริษัทจดทะเบียน 73%, บริษัทจำกัด 23%, องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร 4%) พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ประมาณ 55% ของบริษัทที่สำรวจ ให้ค่าตอบแทนกรรมการในระดับที่เท่าเดิมหรือให้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
แผนภาพแสดงการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ(ในรูปตัวเงิน) ปี 2563 เทียบกับปี 2562
2. รายงานการสำรวจค่าตอบแทนกรรมการ ปี 2563 ของ IOD ซึ่งสำรวจข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 290 บริษัท โดยทำการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทนกรรมการ(ในรูปตัวเงิน) ของปี 2563 กับ ปี 2562 พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ 88% รักษาระดับค่าตอบแทนที่ระดับเดิม ในขณะที่อีก 12 % มีการปรับค่าตอบแทนกรรมการทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงในส่วนของค่าตอบแทนในแต่ละรูปแบบที่แตกต่างกันไป ดังแสดงในตาราง ดังนี้
ตารางแสดงสัดส่วนการปรับค่าตอบแทนกรรมการของค่าตอบแทนประจำ
และเบี้ยประชุม (แยกตามประเภทกรรมการ)
หากมองในภาพรวมแสดงให้เห็นว่าบริษัทส่วนใหญ่ในตลาดทุนไทย ยังเห็นว่าค่าตอบแทนกรรมการเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพื่อเป็นการตอบแทนการทำหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นตามลำดับในหลักการ Fiduciary Duty ตามแนวปฏิบัติที่ดีในการกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการและฝ่ายจัดการ
นอกจากนั้นสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ที่ยังคงมีอยู่และไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร เป็นความท้าทายในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเป็นอย่างมากที่จะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างทันท่วงที การนำพาธุรกิจให้อยู่รอดและยังคงสนับสนุนการกำกับดูแลเพื่อความยั่งยืน เป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมการที่เพิ่มขึ้นและยากขึ้นกว่าในสถานการณ์ปกติ ตามแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
ในทางปฏิบัติ ค่าตอบแทนกรรมการนอกจากเป็นตัวเงิน คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนอาจพิจารณา การตอบแทนในรูปแบบอื่นประกอบด้วย ได้แก่ ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล ประกันชีวิต สิทธิในการใช้สินค้าและบริการของบริษัท เป็นต้น ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อตอบแทนการทำงานของกรรมการ ในภาวะที่ความคล่องตัวทางการเงินมีจำกัด และเปิดเผยในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นให้ได้ทราบอย่างเปิดเผย ตามแนวปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน
กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ในการนำเสนอค่าตอบแทนกรรมการต่อที่ประชุม ผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติ คณะกรรมการโดยเฉพาะคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน ควรพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ทั้งในรูปตัวเงินและค่าตอบแทนในรูปแบบอื่น ที่สามารถจูงใจ และรักษากรรมการที่มีความสามารถให้ปฏิบัติงานให้กับบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว นอกจากนั้นต้องมีความโปร่งใสในการเปิดเผยค่าตอบแทนกรรมการในทุกรูปแบบในการประชุมผู้ถือหุ้น หรือเปิดเผยในรายงานอื่นๆของบริษัท
ศิริพร วงศ์เขียว
นักวิเคราะห์ CG อาวุโส
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)
|