Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
คำแนะนำสำหรับคุณในการประเมินการประเมินผลการปฏิบัติงานของ CEO อย่างมีประสิทธิภาพ

คำแนะนำสำหรับคุณในการประเมินการประเมินผลการปฏิบัติงานของ CEO อย่างมีประสิทธิภาพ

ทุกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เพื่อดำเนินการตรวจสอบผลการปฏิบัติงานของ CEO อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพิจารณาทางด้านกระบวนการ การกำกับดูแล และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด 6 ประการ

เมื่อฤดูร้อนที่แล้วฉันได้รับเชิญจากคณะกรรมการบริษัทหลายแห่ง ให้สนับสนุนการตรวจสอบประสิทธิภาพของ CEO ของพวกเขาที่กำลังจะเกิดขึ้น แม้ว่าฉันจะเป็นพันธมิตรกับ CEO และคณะกรรมการบริหารมากว่า 20 ปีแล้วก็ตาม ดูเหมือนว่าคำขอเช่นนี้จะทวีความต้องการมากยิ่งขึ้น นี่อาจเป็นการตอบสนองต่อความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับ "New Normal" หรือความปกติใหม่หลังวิกฤติโรคระบาด Covid-19 ก็เป็นได้

ในมุมหนึ่งก็ไม่ได้น่าแปลกใจนัก มีความน่าสนใจอย่างมากที่มุ่งเน้นไปที่วิธีที่การจัดการประสิทธิภาพการทำงานที่จะช่วยให้องค์กรสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับพนักงานที่เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเข้าใจบทบาทความรับผิดชอบของตนเอง และการพัฒนาที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะที่แนวทางต่าง ๆ ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่มากขึ้นนั้น แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดได้ถูกใช้ไปอย่างทั่วถึงแก่พนักงานในทุกระดับ ตำแหน่งหน้าที่การทำงาน และในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก

ทว่า CEO อาจเป็นคนสุดท้ายที่ได้รับประสบการณ์ที่เข้มงวดและประโยชน์ของการจัดการประสิทธิภาพแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่องนี้ คุณอาจสงสัยว่าทำไมใช่ไหมคะ เพราะหลายปีที่ผ่านมา มุมมองโดยทั่วไปของคณะกรรมการเป็นไปตามความรับผิดชอบพื้นฐานของพวกเขา คือ "การว่าจ้างและไล่ CEO ออก" นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่วมสมัยตระหนักรู้ดีว่า การประกาศลดความซับซ้อนของความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่มีต่อการประเมินมูลค่าขององค์กร ในขณะที่ตัวชี้วัดแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับรายได้ ความสามารถในการทำกำไร และผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นยังคงเป็นเป้าหมายที่สำคัญ มาตรฐานที่สะท้อนถึง "วิธีการ" ของ ESG เช่น วัฒนธรรม ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการยอมรับความแตกต่าง การหาผู้สืบทอด ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงผ่านวิกฤตได้กลายเป็นหัวข้อสำคัญใหม่สำหรับการตัดสินประสิทธิภาพของ CEO

นอกจากนี้ การเร่งการเปลี่ยนแปลงในตลาด การแข่งขัน และเทคโนโลยี ช่วยเพิ่มความจำเป็นในแนวทางการประเมินได้ส่งเสริมให้เกิดการทดสอบความถูกต้องและการแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องระหว่าง CEO และคณะกรรมการเกี่ยวกับเจตนาเชิงกลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง และเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคณะกรรมการควรมองข้ามขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจขององค์กรหรือการจัดการองค์กรแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการที่มีประสิทธิภาพกำลังมุ่งไปสู่การทบทวนผลการปฏิบัติงานของ
CEO ที่ไม่ได้เป็นงานที่ต้องทำประจำทุกปีเท่านั้น แต่ขอให้มองการประเมินเหล่านี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่มีจุดประติดประต่อกันหลายจุดและอาจมีเรื่องให้คุณได้ตื่นตาตื่นใจอยู่บ้างด้วยนะคะ

ผลกระทบของการประเมินผลการปฏิบัติงานของ CEO อย่างมีประสิทธิภาพ

ฉันขอยกตัวอย่างของการประเมินผลการปฏิบัติงานของ CEO ที่หากทำได้ดีแล้วจะสามารถส่งผลดีต่อพฤติกรรมของ CEO และคณะกรรมการอย่างไรได้บ้าง

Randall เป็น CEO ด้านเทคโนโลยีระดับโลก เมื่อสามปีก่อนเขาเข้ารับตำแหน่งผู้นำองค์กรเป็นครั้งแรกและเป็นผู้สมัครจากภายนอกองค์กรอีกด้วย ในขณะที่คณะกรรมการมองว่าผลงานในช่วงแรกของเขานั้นยอดเยี่ยมมาก คณะกรรมการทุกท่านเชื่อว่าการมีความเข้าใจภายในองค์กรที่ดีขึ้น และความสัมพันธ์ของเขาที่มีต่อคณะกรรมการที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จะช่วยสร้างผลกระทบที่ดีมากยิ่งขึ้นให้กับ Randall ถึงกระนั้นก็ตาม ประธานกรรมการมีความระแวดระวังในการให้ Feedback ที่แน่วแน่และตรงไปตรงมาเมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงในการรักษาเขาไว้ ซึ่งอิงตามคำเลื่องลือจากภายนอกและความสามารถทางการตลาดของ Randall

หลังจากนั้นได้มีการเลือกประธานกรรมการคนใหม่ ท่านเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงซึ่งเป็นที่เคารพและรู้จักดีในด้านความรับผิดชอบและการดำเนินการ ท่านได้โน้มน้าวให้คณะกรรมการและ CEO นำแนวทางปฏิบัติที่ขยันขันแข็งมากขึ้นมาใช้ในการทบทวนผลการปฏิบัติงานของ CEO และการสืบทอดตำแหน่งในองค์กร ซึ่งรวมถึง Feedback เชิงพฤติกรรมที่ทันท่วงที ประธานกรรมการท่านนี้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการท่านอื่น ๆ ในการทบทวน CEO ครั้งต่อไป เพื่อหาข้อมูลที่สมดุลทั้งในด้านโอกาสและสิ่งที่ทำได้ดี เช่น ภาวะผู้นำในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา เป็นต้น

Randall ประหลาดใจกับความเข้มงวด ความยุติธรรม และคุณค่า ที่เขารู้สึกเมื่อได้รับจากการประเมินอย่างรอบคอบเช่นนี้ เขาเปิดใจรับคำติชม ทั้งเขาและโค้ชของเขาได้เน้นการพัฒนาในหัวข้อที่เฉพาะเจาะจง เมื่อเวลาผ่านไป การประเมินช่วงกลางปีมาถึงอีกครั้ง ทั้งคณะกรรมการและผู้ร่วมงานภายในองค์กรได้รายงานว่า CEO ของพวกเขาได้เติบโตขึ้นอย่างเต็มที่ และคณะกรรมการเองด้วยเช่นกัน

การประเมินผลการปฏิบัติงานของ CEO: การพิจารณาการกำกับดูแลและกระบวนการ

แม้ว่าเรื่องราวตัวอย่างข้างต้นจะไม่ได้เจาะลึกถึงกระบวนการและการกำกับดูแลที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานของ CEO อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีสี่ประเด็นหลัก ๆ ที่จำเป็นในการปรับปรุงการประเมินผลการปฏิบัติงานของ CEO เพื่อให้แน่ใจว่าการประเมินของคุณจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

1. กำหนดบทบาทความรับผิดชอบที่ชัดเจน

การระบุและกำหนดบทบาทที่จำเป็นต่อกระบวนการการประเมินผลการปฏิบัติงานของ CEO เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งรวมถึง:

·      ผู้นำของคณะกรรมการ: ใครที่เป็นผู้สร้างและเป็นผู้นำกระบวนการไม่ควรถูกทิ้งให้ต้องคิดไปเอง ตามหลักการแล้วนี่คือหัวหน้าผู้บริหารหรือประธานกรรมการที่ทำหน้าที่เป็น "ผู้จัดการ" หลักของ CEO บุคคลนี้มักจะประสานการมีส่วนร่วมและการให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการ นอกจากนี้ ประธานกรรมการจะนำเสนอตัวเลือกที่ต้องตัดสินใจไม่ว่าจะเป็น แนวทางการประเมิน เกณฑ์การให้คะแนน ระยะเวลาของกระบวนการ และการรวบรวมข้อมูล/การประเมิน ประธานกรรมการยังเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้ข้อเสนอแนะอย่างไรเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ตกลงแล้วด้านกลยุทธ์ ความคิดริเริ่ม และวัตถุประสงค์ที่ตกลงกันไว้ หรืออีกทางหนึ่งอาจมีการกำหนดคณะกรรมการชุดย่อย เช่น “ค่าตอบแทนหรือการกำกับดูแล” เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบประสิทธิภาพของ CEO ด้วยผู้นำที่ได้รับมอบหมาย

·      บทบาทของ CEO: CEO จะต้องการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประเมินตลอดทั้งกระบวนการ วิธีนี้ใช้ได้ผลดีเป็นพิเศษเมื่อมีการประเมินตนเองอย่างเป็นทางการระหว่างกระบวนการ และผลักดันให้เกิดความยุติธรรมและการประเมินเทียบตามความคาดหวังในอดีตและในอนาคต การประเมินตนเองยังสร้างรากฐานที่ดีต่อการหารืออย่างต่อเนื่องด้านกลยุทธ์และความคล่องตัวในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดอีกด้วย

·       พันธมิตรฝ่ายสนับสนุน: เนื่องจากมีการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมมากขึ้น CEO ในปัจจุบันจึงมีการเรียกร้องและรับข้อเสนอแนะจากพนักงาน ลูกค้า และนักลงทุนโดยตรงมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียภายในและภายนอกทำให้ได้มุมมองมากมายเหลือเฝือเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ตัวตน และความเชื่อมั่นที่เกี่ยวข้องของ CEO
ในบางกรณี CHRO อาจก้าวขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการรวบรวมข้อมูล หรืออย่างน้อยสามารถช่วยคณะกรรมการระบุแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเวลาที่เหมาะสมด้วยก็ได้ คณะกรรมการบางท่านมอบหมายการเก็บรวบรวมข้อมูล และ/หรือ สร้างรายงานให้กับโค้ชของ CEO อย่างมีวัตถุประสงค์และเชื่อถือได้ ในขณะที่คณะกรรมการท่านอื่น ๆ อาจมอบหมายสิ่งนี้ให้กับที่ปรึกษาที่มีส่วนร่วมด้านกลยุทธ์ ในเรื่องประสิทธิภาพของทีมผู้บริหารระดับสูง วัฒนธรรม และ/หรือ การหาผู้สืบทอด บุคคลนี้ยังเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์และมีความน่าเชื่อถือต่อคณะกรรมการอีกด้วย

2. กำหนดแนวทางการประเมิน CEO

มีหลายวิธีในการพิจารณาทบทวนผลการปฏิบัติงานของ CEO ของคุณ ซึ่งรวมถึง:

·       การประเมินผลจากประธานกรรมการ: ในแนวทางนี้ ประธานกรรมการจะรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจนจากกรรมการท่านอื่น ๆ จากนั้นประธานกรรมการจะทำหน้าที่เป็นหลักในการให้ Feedback

·       การประเมินผลจากคณะกรรมการแบบองค์รวม: สำหรับตัวแปรนี้ สมาชิกคณะกรรมการทุกท่านให้ข้อมูล และหลายท่านจะถูกกำหนดให้เสนอความคิดเห็นโดยตรงต่อ CEO โดยเฉพาะ
จากที่ระบุอาจมาจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องหรือแม้กระทั่งผู้ที่สนใจในการมีส่วนร่วมโดยตรงในกระบวนการ แนวทางนี้อาจได้รับการสนับสนุนจากที่ปรึกษาจากภายนอกอย่างมีวัตถุประสงค์ร่วมด้วยก็เป็นได้

·       การประเมินผลคณะกรรมการและทีมผู้บริหารระดับสูง: คณะกรรมการทุกท่าน รวมทั้งสมาชิกในทีมผู้บริหารระดับสูงของ CEO ได้รับเชิญให้แบ่งปันข้อมูลอย่างชัดเจน แนวทางนี้ในเวอร์ชันที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นอาจรวมถึงข้อมูลเชิงลึกจากผู้ร่วมงาน (รวมถึงการสำรวจด้านวัฒนธรรม) ลูกค้า ซัพพลายเออร์ และอื่น ๆ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกแปลเป็นการประเมินแบบบูรณาการ Feedback จะถูกถ่ายทอดโดยประธานกรรมการและเสริมในบางครั้งโดยพันธมิตรที่ได้รับมอบหมาย

·       การประเมินตนเองของ CEO: CEO ให้การประเมินตนเองเพื่อนำหรือเสริมกระบวนการโดยรวมรวมถึงบทสนทนาสำหรับอนาคตอีกด้วย

3. เลือกวิธีการประเมินผลและการนำเสนอ

วิธีการประเมินของคุณคืออะไร และผลลัพธ์จะถูกนำเสนออย่างไร มีสามแนวทางที่คุณควรพิจารณา:

·       Interview-based รูปแบบการสัมภาษณ์: Stakeholders หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะถูกสัมภาษณ์โดยผู้อำนวยการหลักหรือจากพันธมิตรที่ปรึกษาจากภายนอก

·       Survey-based รูปแบบการสำรวจ: Stakeholders หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำการตอบแบบสำรวจออนไลน์เพื่อเป็นการประเมินเบื้องต้น

·       รูปแบบผสมผสานระหว่างการสัมภาษณ์และแบบสำรวจ: แนวทางนี้จะใช้ทั้งรูปแบบการสัมภาษณ์และการทำแบบสำรวจ ซึ่งจะเป็นการรวมผลลัพธ์ไว้ในโปรไฟล์การประเมิน

แนวทางข้างต้นเป็นสามแนวทางที่คณะกรรมการชอบทำมากที่สุด ในขณะที่รูปแบบผสมผสานเป็นที่นิยมทำมากที่สุด การประเมินที่มีความหมายมากที่สุดคือจากรูปแบบการสัมภาษณ์ ที่รวมถึงตัวอย่างและคำถามติดตามผลสำหรับสมาชิกคณะกรรมการส่วนใหญ่หรือทั้งหมด

แนวทางทั้งหมดให้รายงานสรุปโดยภาพรวม โดยมีการให้คะแนนเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและการบรรยายอย่างละเอียดซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการประชุมซักถามกับประธานกรรมการและ CEO เพื่อทำความเข้าใจและหารือเกี่ยวกับผลลัพธ์ ในส่วนสนับสนุนของผลลัพธ์สามารถจัดทำในรูปแบบของ Scorecards หรือ Dashboards แต่ในบางครั้ง รายงานฉบับที่สองที่มีความคิดเห็นเฉพาะของคณะกรรมการอาจให้มุมมองที่กว้างขึ้นได้อีกด้วย

คณะกรรมการบางท่านต้องการการสรุปอย่างเต็มรูปแบบจากคณะกรรมการท่านอื่น ๆ ในกรณีเหล่านี้ ผู้บรรยายที่ดีและสามารถจัดการเรื่องราวให้ครอบคลุมรอบเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนได้นั้น มีความสำคัญต่อการสรุปผลที่ทั้งเปิดกว้างและมีประสิทธิภาพได้

4. กำหนดเกณฑ์การปฏิบัติงานของ CEO

ตามหลักการแล้วเกณฑ์การปฏิบัติงานของ CEO จะรวมถึงสิ่งที่ต้องโฟกัสในหลายระดับ

ผลลัพธ์ที่สำคัญ หรือ Key Results Areas สำหรับการประเมินประสิทธิภาพของ CEO โดยทั่วไปจะรวมถึงกลยุทธ์ การดำเนินการ การเงิน วัฒนธรรม ความสามารถ และความสัมพันธ์ สำหรับ CEO บางราย คณะกรรมการอาจเน้นเรื่องอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น ความสัมพันธ์ต่อคณะกรรมการ ความยั่งยืน/ESG หรือ ด้านนวัตกรรม และอาจขับเคลื่อนโดยบริบทขององค์กร (เช่น การเปลี่ยนแปลง) หรือการสังเกตของ CEO ในอดีตที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ

วัตถุประสงค์ควรอธิบายไว้ในเงื่อนไขที่ขับเคลื่อนด้วยผลลัพธ์ วัตถุประสงค์ควรรวมถึงตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมและผลลัพธ์ที่สำคัญต่อการบรรลุลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการโดยรวม ซึ่งจะถูกกำหนดรูปแบบตามบริบททางธุรกิจของอุตสาหกรรม (เช่น การดูแลสุขภาพ การบริการด้านเทคโนโลยี การผลิต) และวุฒิภาวะขององค์กร

TextDescription automatically generated

ตัวอย่าง Key Results Areas และวัตถุประสงค์ ที่ได้ระบุไว้ในตาราง

Competencies (ทักษะความสามารถ) และ/หรือ Personal Attributes (คุณลักษณะส่วนบุคคล) ให้ความสำคัญต่อความคาดหวังจากคณะกรรมการว่า CEO เป็นผู้นำและประพฤติตนอย่างไร ความเป็นผู้นำที่กล้าหาญ การรับมือกับความเสี่ยงและการแก้ไขปัญหา การสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน ความเป็นผู้นำในทีมผู้บริหาร และจริยธรรม เป็นตัวอย่างจากการประเมินครั้งล่าสุด พวกเขายังให้ความสมดุลของการหารือเกี่ยวกับความเป็นผู้นำทางธุรกิจและบุคลากรอีกด้วย

Competencies (ทักษะความสามารถ) ควรกำหนดไว้ที่ระดับของ CEO ด้วยมาตราส่วนการให้คะแนนที่ปรับเทียบได้ง่าย และมีข้อกำหนดที่เขียนบรรยายไว้ รวมถึงตัวอย่างทางด้านพฤติกรรม การเติบโตที่เห็นได้ชัด และโอกาสที่เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ข้อเสนอแนะขั้นสุดท้ายในหมวดหมู่นี้ควรสะท้อนมุมมองที่สอดคล้องกันของผู้ประเมิน เช่น คณะกรรมการ ทีมผู้บริหารระดับสูง พันธมิตร ลูกค้า ฯลฯ และควรสร้างด้วยข้อกำหนดที่เขียนบรรยายไว้ รวมถึงตัวอย่างทางด้านพฤติกรรม

นอกจากนี้ Competencies (ทักษะความสามารถ) / Personal Attributes (คุณลักษณะส่วนบุคคล) ควรมีการแจ้งข้อเสนอแนะเชิงพฤติกรรมและเชิงคุณภาพ ซึ่งควรจะเป็นไปในเชิงบวกรวมถึงการเพิ่มโอกาสในส่วนของ Key Results และ วัตถุประสงค์อีกด้วย

คำแนะนำสำหรับการดำเนินการทบทวนผลการดำเนินงานของ CEO

โดยทั่วไปแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการผลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับการประเมินของ CEO ด้วย

1. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเข้าใจเกณฑ์การปฏิบัติงานอย่างชัดเจน

บทบาทของ CEO ย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเมื่อเถียบกับบทบาทอื่น ๆ ในองค์กร และมีความท้าทายมากกว่าที่เคย ผู้บริหารระดับสูงคือปลายลูกศรในการกำหนดวิสัยทัศน์ การตั้งสมมติฐานในการดำเนินงาน และการตัดสินใจที่ยากลำบากในบริบทของเศรษฐกิจที่ผันผวน ตลาดที่แปรปรวน และพฤติกรรมผู้ซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป นักลงทุน ลูกค้า และผู้ร่วมงานมอง CEO เป็นหน้าตาของบริษัท ด้วยเหตุนี้เอง การมองเห็นและความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นเชื่อในอนาคต การนำการเปลี่ยนแปลง และการดำเนินการจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ในบริบทของความซับซ้อนนี้ การพัฒนาเกณฑ์การให้คะแนนของคณะกรรมการเพื่อตัดสินผลการปฏิบัติงานของ CEO จะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม สิ่งสำคัญที่สุดคือ คณะกรรมการมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพโดยภาพรวม กลยุทธ์ ธุรกิจ และความเป็นผู้นำทางวัฒนธรรม เทียบกับรายละเอียดการดำเนินการที่แม่นยำ และในขณะที่วัตถุประสงค์อันชาญฉลาดพร้อมตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจนนั้นมีความสำคัญ การให้คะแนน การรวมข้อมูล และผลตอบรับกลับจำเป็นต้องเน้นที่ "อะไร" คือสิ่งที่คาดหวัง แต่ยังต้องมุ่งเน้นไปที่ "วิธีการ" ในแง่ของการทำให้เกิดความสำเร็จนั้น ๆ ผ่านสมาชิกในองค์กรและพันธมิตรอีกด้วย

2. ปรับรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของ CEO ให้สอดคล้องกับปีงบประมาณขององค์กร

ในช่วงต้นปี คณะกรรมการควรกำหนดความคาดหวังที่ชัดเจนซึ่งได้รับแจ้งจากวาระเชิงกลยุทธ์ที่ตกลงร่วมกัน CEO สามารถทำงานร่วมกับประธานกรรมการและ CHRO เพื่อแปลสิ่งนั้นเป็นวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับ CEO จากนั้นจึงแบ่งความรับผิดชอบที่เหมาะสมส่วนตัวและร่วมกันไปยังทีมผู้บริหารระดับสูง บุคคลอื่น ๆ และหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป

3. ทำให้เป็นกระบวนการไม่ใช่งานเฉพาะกิจ

คณะกรรมการจะต้องเตรียมการทบทวนระดับสูงของ CEO อย่างต่อเนื่องและการเจรจาเกี่ยวกับคำมั่นสัญญาและตัวบ่งชี้ความเป็นผู้นำที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ การดำเนินการ และวัฒนธรรม ใช้ประโยชน์จาก “Partnership” Mindset อย่างต่อเนื่อง การแลกเปลี่ยนเหล่านี้ควรอยู่ในระดับสูง โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด ความเสี่ยง และโอกาสใหม่ ๆ (เช่น การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ) รูปแบบนี้อาจอยู่ในรูปแบบของการตรวจสอบ Dashboard ของคณะกรรมการช่วงกลางปีอย่างเป็นทางการ เสริมด้วยเป้าหมายที่ไม่เป็นทางการกับประธานกรรมการหรือหัวหน้าคณะกรรมการร่วมด้วย

4. เสนอความคิดเห็นที่สมดุลระหว่าง จุดแข็ง ความสำเร็จ และจุดที่ต้องการการพัฒนา

CEO ก็เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่อยากจะได้รับการยอมรับจากสิ่งที่พวกเขาลงแรงไป เช่น การฝ่าฟันวิกฤต การเข้าซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ หรือการปรับตำแหน่งภาพลักษณ์ขององค์กร พวกเขายังจะได้รับประโยชน์จากการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ตัวอย่างพฤติกรรม และการเล่าเรื่องที่แสดงถึงจุดแข็งและโอกาสอย่างต่อเนื่อง

ผู้ให้ข้อเสนอแนะที่กำหนดจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดีที่แสดงออกถึงความเคารพและมีความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจาก CEO อาจมีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการเพิ่มเติมหรือขอความช่วยเหลือในการเอาชนะอุปสรรคและความท้าทาย

5. คาดการณ์ปฏิกิริยาของ CEO ต่อหัวข้อที่อาจละเอียดอ่อน และวางแผนการส่งข้อความตามสถานการณ์นั้น ๆ

ในการทำ Performance Reviews ส่วนใหญ่ มีหัวข้อที่อาจไปกระตุ้นความน่าหงุดหงิด ทำให้ไม่ทันได้เตรียมตัวตั้งรับ หรือการตอบสนองทางอารมณ์อื่น ๆ ที่ไม่คาดคิด ตัวอย่างเช่น CEO หลายคนที่ฉันได้ทำงานด้วยเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีความอ่อนไหวอย่างมากต่อรูปแบบการชดเชย ทั้งในแง่ของคำมั่นสัญญาในการสร้างความมั่งคั่ง (หรือข้อจำกัด) ต่อตนเองและผู้อื่น

อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยครั้งอาจเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ CEO เกี่ยวกับคำมั่นสัญญาและพลังในการสร้างความสัมพันธ์และการเข้าถึงลูกค้าระดับ C-Level คณะกรรมการอาจต้องการการมีส่วนร่วมในองค์กรในระดับที่ลึกกว่าความเห็นของ CEO ตามความเหมาะสม

และเพื่อระบุว่าผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จและชัดเจนนั้นคุ้นเคยกับการตอบรับเชิงบวกจำนวนมากจากผู้อื่น พวกเขาอาจแสดงท่าทางตอบโต้หรือตอบสนองต่อข้อเสนอแนะ หรือการให้คะแนนอย่างตรงไปตรงมาที่พวกเขาไม่เห็นด้วย แน่นอน การแบ่งปันข้อความที่ตรงไปตรงมาและถูกต้องยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรต้องทำ แต่ต้องเป็นไปในรูปแบบที่มีมารยาทและสามารถรับฟังได้ การมี Executive Coach นั้นจำเป็นสำหรับ CEO หรือไม่ นี่อาจช่วยให้ประธานกรรมการกำหนดตำแหน่งความคิดเห็นที่ละเอียดอ่อนได้ดีมากยิ่งขึ้น

6. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าความคิดเห็นของ CEO และการเจรจากำหนดลำดับความสำคัญของรอบการประเมินถัดไป

ข้อมูลเชิงลึกและข้อเสนอแนะในการประเมินควรขับเคลื่อนวัตถุประสงค์ในอนาคต สำหรับทั้งองค์กรและ CEO เอง ตลอดจนการพัฒนาส่วนบุคคล ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเริ่มต้นหรือเน้นลำดับความสำคัญใหม่ เช่น การมุ่งเน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพของทีมผู้บริหารระดับสูง ความสัมพันธ์กับลูกค้าเชิงกลยุทธ์ และอื่น ๆ หาก CEO จ้าง Executive Coach นี่อาจเป็นจุดเชื่อมต่อที่เหมาะสำหรับการทดสอบเทียบก่อนและหลังการให้ Feedback และหารือด้านการพัฒนาก็เป็นได้

การประเมินผลการปฏิบัติงานของ CEO ที่มีประสิทธิภาพ

ก่อให้เกิดพลังงานที่ดีได้

แนวทางปฏิบัติที่ระบุไว้ในบทความฉบับนี้ได้ใช้เวลาอย่างมากกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว นี่มีส่วนทำให้เกิดความแตกต่างอย่างแท้จริงในการเป็นผู้นำของ CEO ความสัมพันธ์ต่อคณะกรรมการ ผลการดำเนินงานขององค์กร และสิ่งที่ต้องโฟกัส

เช่นเดียวกับ CEO ที่ต้องทำการประเมิน คณะกรรมการต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบและความคล่องตัวทางธุรกิจของตนเอง และความเต็มใจที่จะพัฒนานั้นก็มีความสำคัญต่อการรับรู้ของตลาดและการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาร่วมทีม คณะกรรมการที่สามารถจำลองความสำคัญของความรับผิดชอบและวัฒนธรรมการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกันได้ และให้ข้อมูลเชิงลึกที่ยุติธรรมและมีความหมายนั้น มีแนวโน้มที่จะเพิ่มพลังให้ CEO ของพวกเขา เพื่อส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้ไปทั่วทั้งองค์กร

เรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน Webinar ในหัวข้อ What Your Board Needs to Know.

ผู้เขียน Audrey Smith, Ph.D.

Principal Partner, DDI's Executive Services, USA



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand