ความสำคัญของ CG Committee ในปัจจุบัน
ทั่วโลกต้องประสบปัญหากับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงินมาหลายครั้งในอดีต วิกฤตการณ์หลายอย่างลุกลามส่งผลมายังประเทศไทยหรือบางครั้งประเทศไทยก็เป็นแหล่งกำเนิดเสียเอง ดังเช่นวิกฤตที่คนไทยรู้จักกันดี “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” สาเหตุหลักมาจากการลงทุนที่เกินตัวจากภาคเอกชน สถาบันการเงินไม่ควบคุมความเสี่ยงในด้านสินเชื่ออย่างเหมาะสม เมื่อฟองสบู่แตก บริษัทหลักทรัพย์และธนาคารจำนวนมากต้องล้มละลาย ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน
ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจึงให้ความสนใจกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพิ่มมากขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งหน่วยงานกำกับดูแลและภาคเอกชน แต่ถึงแม้ว่าทุกส่วนจะให้ความสำคัญในด้าน CG เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาระดับประเทศอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับการกำกับดูแล คือ การทุจริตคอร์รัปชัน
ผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) ที่จัดทำโดย องค์กรโปร่งใสนานาชาติ (TI : Transparency International) ปี 2564 ประเทศไทย ถูกจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 110 จากทั้งหมด 180 ประเทศที่เข้าร่วมการประเมิน ได้คะแนน 35 คะแนนจาก 100 คะแนนลดลงกว่าปี 2563 จนต้องจัดให้เป็นวาระของชาติเพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการอย่างโปร่งใส เปิดเผยได้ทั้งภาครัฐและเอกชน
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ หรือ CG Committee (Corporate Governance Committee) เป็นคณะกรรมการที่มีความสำคัญต่อบริษัทจดทะเบียนเป็นอย่างมากมากว่า 20 ปี คณะกรรมการชุดนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานและให้คำแนะนำต่างๆ ในการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Policy) และจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท (Code of Conduct) ให้สอดคล้องกับกฎหมาย ข้อบังคับ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำกับดูแลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น และดูแลการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนให้บริษัทที่อยู่ในตลาดทุนไทยให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี โปร่งใสและตรวจสอบได้ นอกจากนั้นยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงาน CG และการต่อต้านคอร์รัปชั่น ในระดับประเทศด้วย
นอกจากหน้าที่ CG Committee ที่ต้องกำกับติดตามเรื่องบรรษัทภิบาลภายในองค์กรแล้ว ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดผลกระทบด้าน สังคม สิ่งแวดล้อม ติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลกระทบเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง จึงเกิดเป็นแนวคิดที่ว่าต่อไปการลงทุนในทุกๆภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น การผลิตหรือการบริการ จะต้องเป็นไปในแบบ responsible investment คือเป็นการลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance) ซึ่งถือเป็นเสาหลักของการเติบโตแบบยั่งยืน (Sustainable Growth)
ในปี 2022 ESG กลายเป็นเรื่องที่ทุกธุรกิจถูกจับตามอง และสนใจเป็นอย่างมากทั้งจากบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุนทั่วโลก ปัจจัยทั้ง 3 ข้อจะถูกนำมา ชี้วัดความสามารถในการแสวงผลประโยชน์ระยะยาว (long-term gain) ของบริษัท นอกเหนือจากการพิจารณาจากตัวเลขทางการเงินอย่างเดียว ซึ่งการที่บริษัทนำหลัก ESG ปรับใช้เข้ากับแนวทางดำเนินธุรกิจ นอกจากจะเป็นการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทแล้วยังมีส่วนช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินงานจึงควรนำเรื่อง ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางธุรกิจที่บริษัทกำลังดำเนินอยู่เป็นปกติ นอกเหนือการจัดทำเป็นกิจกรรมในลักษณะกิจกรรมหรือเป็นโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจ หลายบริษัทจึงมอบหมายเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่รวมถึงประเด็นด้าน ESG ให้เป็นหน้าที่คณะกรรมการ CG เพื่อติดตาม กำกับดูแล และรายงานให้คณะกรรมการบริษัททราบอีกชั้นหนึ่ง เป็นแนวทางที่ชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังเพื่อพัฒนา เรื่อง ESG อันเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กรด้วย
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาด้าน ESG เป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่สำหรับบริษัทส่วนใหญ่ และบางครั้งยังไม่เห็นความเชื่อมโยงโดยตรงกับชื่อเสียง การเงิน หรือความเสี่ยงในระยะสั้น แต่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นกระแสที่ประชาคมโลกต้องมีส่วนร่วมในการบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการปัญหาในเรื่อง ESG ดังกล่าว ดังนั้นในทุกๆ บริษัทจึงควรมีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ เพื่อช่วยให้การดำเนินงานเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนเกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการจึงนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของคณะกรรมการบริษัท
นอกจากการจัดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการในโครงสร้างของคณะกรรมการแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ควรได้รับการพัฒนา ความรู้ ความเข้าใจ การจัดโครงสร้างและ/หรือแนวทางการกำกับดูแลกิจการตลอดจนกระบวนการและขั้นตอนภายใน เพื่อช่วยบูรณาการแนวทางของ ESG ให้สอดคล้องกับกิจกรรมทางธุรกิจขององค์กรด้วย
จุฑามาศ เพิ่มพูล
ตำแหน่ง นักวิเคราะห์ CG
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
|