Diversity at The Top The Future of Chairwoman
เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากภาวะชะงักงัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงและรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ผลกระทบของโควิด-19 การประท้วงของประชาชนทั่วโลกถึงสภาวะสงคราม การเมือง และเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่อเนื่อง ความท้าทายที่เผชิญจากอดีตถึงปัจจุบันส่งผลให้องค์ประกอบของคณะกรรมการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญในประเด็นความหลากหลายที่มากขึ้น และเราเริ่มเห็นประโยชน์ของการมีคณะกรรมการที่มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่เผชิญเช่นกัน หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดถึงตลอดหลายปีที่ผ่านมาไม่เพียงแต่เรื่องความหลากหลายของคณะกรรมการเท่านั้น แต่รวมถึงการมุ่งเน้นในการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ (Gender Diversity) ของประธานกรรมการอีกด้วย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการได้ออกข้อเสนอแนะ เพื่อส่งเสริมผู้หญิงให้มีบทบาทในเวทีต่างๆ ทั้งเวทีระดับโลก ภูมิภาค หรือระดับบริษัทให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หากย้อนกลับไปในปี 2020 พบว่าในคณะกรรมการใน FTSE100 เป็นผู้หญิงถึง 25% อย่างไรก็ตาม การมุ่งเน้นอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนความหลากหลายสำหรับบทบาทประธานกรรมการยังเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อสะท้อนความหลากหลายของคณะกรรมการ งานวิจัยล่าสุดจาก INSEAD 2022 ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องเร่งการขับเคลื่อนการแต่งตั้งประธานกรรมการหญิงให้เร็วขึ้น โดยเป้าหมายควรจะไปถึง 35% ภายในปี 2025 และ 50% ภายในปี 2027 ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มผู้สนับสนุนและกระตือรือร้นในการสนับสนุนให้ผู้หญิงให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ รวมถึงกรรมการที่เป็นผู้บริหารและกรรมการที่ไม่ใช่ผู้บริหารเพิ่มมากขึ้น เช่น Women on Boards Network, IWF (International Women's Forum), MACA (Men as Change) ตัวแทน) CBI, IOD, 30% Club เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทยมีการผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเพศเช่นกัน โดยเริ่มจากบริษัทจดทะเบียนหนึ่งๆ ควรมีผู้หญิงเป็นกรรมการอย่างน้อย 1 คน จนกระทั่งปัจจุบันที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทในคณะกรรมการเพิ่มขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายปี 2022 ที่จะสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนไทยว่า 30% ให้มีกรรมการผู้หญิงอย่างน้อย 30% ของจำนวนคณะกรรมการทั้งคณะ ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าผู้หญิงไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในฐานะกรรมการของคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทย และมีบทบาทผู้นำ (Leadership) ในบริษัทจดทะเบียนไทยเพิ่มมากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ก็ได้ส่งเสริมความหลายหลายทางเพศทั้งในฐานะ “ประธานกรรมการ” หรือ “ผู้บริหารระดับสูงสุด” ของบริษัทจดทะเบียน จากการศึกษาโครงสร้างคณะกรรมการของบริษัทจดทะเบียนไทย ณ สิ้นปี 2020 จำนวน 731 บริษัท พบว่า ผู้หญิงดำรงตำแหน่งเป็น “ประธานกรรมการ” (chairman of board director) เพิ่มมากขึ้น โดย ณ สิ้นปี 2020 มี 57 บริษัทที่ผู้หญิงดำรงตำแหน่งเป็น “ประธานกรรมการ” หรือ คิดเป็น 8.4% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2019 ที่อยู่ที่ 47 บริษัท หรือ 6.9% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด
ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการเพิ่มจำนวนของประธานกรรมการหญิงในอนาคต การให้ความรู้ถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีแก่คณะกรรมการสรรหาเกี่ยวกับการกำหนดงาน คุณลักษณะที่เป็นกลางทางเพศเป็นสิ่งสำคัญ และควรทำควบคู่ไปกับการดำเนินการตรวจสอบทักษะ ความรู้ ความสามารถโดยละเอียดของคณะกรรมการที่มีความหลากหลายเป็นมิติหลัก เพื่อให้มั่นใจว่าประธานกรรมการและคณะกรรมการสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสิ่งสำคัญคือต้องมีกระบวนการสนับสนุนและให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนากระบวนการสรรหาให้เหมาะสมและต่อเนื่อง
Korn Ferry ที่ปรึกษาด้านการจัดการบริษัททั่วโลกได้กล่าวถึงคุณลักษณะที่จำเป็นของของประธานกรรมการในอนาคตผ่านบทความ The Chair of the Future Toward 2025 โดยระบุว่าท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นั้น ประธานกรรมการไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตามอาจจำเป็นต้องมีคุณลักษณะเหล่านี้ เพื่อให้สามารถนำพาองค์กรก้าวผ่านอุปสรรค ทำงานร่วมกับคณะกรรมการได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำพาองค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน
1. ความยืดหยุ่น (Resilience) – จำเป็นต้องเป็นคุณสมบัติของความเป็นผู้นำของประธานกรรมการ
2. ความคล่องตัว (Agility) – ต้องเติบโตและตัดสินใจอย่างกล้าหาญในสภาพแวดล้อมที่คลุมเครือมากขึ้น
3. ความฉลาดทางอารมณ์สูง (High Emotional Intelligence) - ความสามารถในการเข้าถึงมุมมองด้านต่างๆ และมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่แตกต่างกัน
4. ความกล้าหาญ (Courage) – สามารถเป็นผู้นำคณะกรรมการในเวลาที่ยากลำบากและสถานการณ์ที่ซับซ้อน คลุมเครือและมีความกล้าหาญในการเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของคณะกรรมการ
5. ความอยากรู้ (Courious) – ต่อปัจจัยภายนอกต่างๆ
6. ความคิดในการเรียนรู้ (A Learning Mindset) – ความสามารถทางความคิดในการเปลี่ยนแปลงมุมมองที่แตกต่าง
ไม่ใช่เพียงแค่ทักษะ ประสบการณ์ และคุณลักษณะของประธานกรรมการเท่านั้นที่จะบริษัทจะอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ประธานกรรรมการแห่งอนาคตไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงคือผู้นำที่จะต้องเข้าใจว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็น จำเป็นเมื่อใด และจำเป็นอย่างไร ประธานกรรมการเปรียบได้กับวาทยกรในวงออเคสตรา เมื่อพิจารณาว่าบทบาทของวาทยกรคือการเป็นผู้นำ ชี้แนะ และรวมนักแสดงในขณะกำหนดจังหวะ ฟังอย่างมีวิจารณญาณ และกำหนดรูปแบบเสียงของวงดนตรี ความสำคัญของการบรรลุผลการปฏิบัติงานที่เป็นแบบอย่างจากผู้เล่นแต่ละคนคือหลักฐานของทักษะของผู้ควบคุมวง ประธานกรรมการแห่งอนาคตจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อพวกเขารวบรวมวงออเคสตราที่มีมุมมองที่กว้างไกลและความคล่องแคล่วทางจิตใจเพื่อเล่นในบริบทที่ผันผวนมากขึ้น ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ IOD จึงได้จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับประธานกรรมการที่ดีขึ้น โดยนอกจากเนื้อหาส่วนหนึ่งได้สรุปคุณลักษณะที่ดีของประธานกรรมการซึ่งสอดคล้องกับที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วยังมีแนวปฏิบัติที่ดีในเรื่องอื่นๆ ที่ประธานกรรมการและคณะกรรมการควรทราบด้วยเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง:
• Korn Ferry, The Chair of the Future Toward 2025, June 2020.
• Deloitte, Chair of the Future: Supporting the next generation of business leaders, 2020.
• Advance Boardroom Excellence, Diversity at the Top: The Future of Chairwoman, 2022.
• กรุงเทพธุรกิจ, ตลท.เผย "ผู้หญิง" มีบทบาทเพิ่มขึ้น ในคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทย, 7 มิถุนายน 2022.
• สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย, แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับประธานกรรมการ, 2022.
นางสาววรัตนันทร์ รัชมุสิกพัทธ์
Senior CG Analyst – Curriculum and Facilitators
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
|