Leading the Climate Change Conversation in Your Organization
แม้ว่าในช่วงนี้ หลายๆ ประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากที่ประสบกับเหตุการณ์วิกฤตโรคอุบัติใหม่โควิด 19 ในช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมา เป็นเหตุให้หลายๆ องค์กรต่างต้องรับมือและปรับธุรกิจให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่การจัดการกับปัญหาเร่งด่วนอย่างโรคระบาด ปัญหาที่เกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้กระบวนการผลิตต้องหยุดชะงัก การเผชิญกับเทคโนโลยีใหม่ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและมีผลต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดเหตุสงครามขึ้น ก็ได้ส่งผลกระทบไปในวงกว้างทั่วโลก ถือเป็นอีกหนึ่งบททดสอบที่ทุกองค์กรต้องเรียนรู้และฝันฝ่าเหตุการณ์ไปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอีกหนึ่งปัญหาที่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่องค์กรทั่วโลกควรให้ความสำคัญไปไม่น้อยเช่นกัน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นในขณะนี้ ซึ่งจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากฤดูกาลต่างๆ ที่แปรปรวน พายุมรสุมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรง คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันตก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เรารับทราบกันเป็นอย่างดีถึงความแปรปรวนและความไม่แน่นอนที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการประชุมประเทศผู้นำใน COP 26 ที่เมืองกลาสโกว สกอตแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ที่ผ่านมา โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการร่วมตกลงกันในภารกิจเพื่อมุ่งไปสู่ Net Zero ในปี 2050 แผนนี้ถือเป็นแผนระดับชาติที่ทุกประเทศจะต้องให้ความสำคัญ แล้วในฐานะองค์กรภาคเอกชนนั้น เราจะสามารถมีส่วนร่วมและวางแผนเพื่อบริหารจัดการกับประเด็นสำคัญนี้ได้อย่างไร
หากย้อนดูข้อมูลและสถิติต่างๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นได้ถูกจัดลำดับให้เป็นความท้าทายที่สำคัญอันดับต้นๆ ของคณะกรรมการและฝ่ายจัดการในทุกๆ อุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากข้อมูลรายงานด้านความเสี่ยง “Global Risks Report” ปี 2022 โดยองค์กรระหว่างประเทศอย่าง World Economic Forum (WEF) ที่ได้จัดทำรายงานด้านความเสี่ยงนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อสรุปอันดับ 10 ความเสี่ยงที่สำคัญ โดยความเสี่ยงอันดับ 1 ในปี 2022 เป็นความเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อม นั่นคือ ความเสี่ยงจากความล้มเหลวในการจัดการกับสภาพภูมิอากาศ (Climate action failure) ตามที่นานาประเทศได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องยื่นแผนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2030 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นสำหรับภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชากรโลกทุกคน
ที่มา: World Economic Forum
เมื่อสภาพภูมิอากาศได้กลับกลายขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ องค์กรภาคเอกชนในทุกภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องดำเนินการและคอยติดตามดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านของการรายงานและเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การดูแลและจัดการกับความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสีย และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสังคม Net Zero โดยทางสถาบัน Governance Institute of Australia (GIA) ได้มีการออกรายงานแนวทางสำหรับคณะกรรมการและฝ่ายจัดการเพื่อนำพาองค์กรไปสู่ Net Zero (Guide for Boards and Management on the Path to Net Zero) โดยในรายงานดังกล่าวได้สรุปแนวทางที่ได้มาจากการรวบรวมแนวทางขององค์กรที่ได้เริ่มมีการลงมือปรับทิศทางเพื่อนำพาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กร Net Zero แล้ว โดยแนวทางที่รวบรวมมาได้นั้นจะช่วยตอบคำถามให้กับองค์กรที่ยังไม่เห็นถึงความเร่งด่วน ไม่เห็นถึงความจำเป็น หรือยังไม่ทราบว่าควรจะเริ่มต้นหรือดำเนินการอย่างไรบ้างกับจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น
โดยทั่วไปแล้ว แต่ละองค์กรสามารถจัดการกับความเสี่ยงด้านภูมิอากาศได้เหมือนกับความเสี่ยงด้านอื่นๆ ของธุรกิจ แต่สิ่งที่ทำให้การจัดการกับความเสี่ยงด้านความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีความยากมากกว่านั้น ก็เนื่องมาจากความไม่แน่นอนในการคาดคะเนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และการที่ถูกมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องอนาคตที่ไกลตัวมาก หลายๆ องค์กรจึงไม่ได้มีการจัดสรรทรัพยากร หรือวางแผนดำเนินการไปในด้านนี้ได้อย่างเต็มที่นัก แต่แน่นอนว่า หากเกิดเหตุการณ์ปรากฏการณ์ทางด้านธรรมชาติในครั้งต่อไป ผลกระทบย่อมทวีความรุนแรงมากขึ้นและเกิดขึ้นในวงกว้าง ดังนั้น องค์กรต่างๆ จึงควรเริ่มคิดที่จะดำเนินการและหาแนวทางจัดการกับความเสี่ยงดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่อาจจะเกิดขึ้น
ทางสถาบัน GIA ได้ให้แนวทางในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อตอบคำถามใน 3 ประเด็นหลัก คือ
• องค์กรจะทำให้เรื่องของภูมิอากาศฝังเข้าไปถึงแก่นขององค์กรได้อย่างไร
• องค์กรจะจัดการกับความท้าทายต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างไร
• องค์กรจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการรายงานข้อมูลต่างๆ ขององค์กรเป็นไปตามความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
ซึ่งในบทความนี้ จะขอดึงเอาบางส่วนในรายงานฉบับนี้ที่เกี่ยวข้องกับการทำอย่างไรให้เกิดบทสนทนาในองค์กรเพื่อที่จะนำเอาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเข้ามาพิจารณาทั้งในแง่โอกาสและความเสี่ยงต่อองค์กรเป็นหลัก
การวางแผนและเตรียมการสำหรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Orchestrating the climate change conversation)
ที่มา: Governance Institute of Australia
1. มองในมุมธุรกิจต่อองค์กร
- ทำความเข้าใจและวาดแผนผังผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อองค์กร โดยการรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอก ต่อมุมมองความเสี่ยงและโอกาสใหม่ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะมีต่อองค์กร
- ในทางกลับกัน วางแผนผังผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กรที่อาจมีต่อสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น บริษัทมีการปล่อยของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทานทางไหนและอย่างไรบ้าง เป็นต้น
2. ทำความเข้าใจต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
- พิจารณาผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ และจัดลำดับความสำคัญ
- ติดตามและให้มีการรายงานผลการดำเนินงานต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นประจำ
3. การได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการและผู้บริหาร
- คณะกรรมการมีการสอบถามฝ่ายจัดการถึงแนวทางการดำเนินการจัดการกับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งทางด้านโอกาสและความเสี่ยง
- มีการวางกระบวนการโดยฝ่ายจัดการและนำเสนอคณะกรรมการเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนในการดำเนินการประเมิน บริหารจัดการ และการจัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลในด้านนี้
4. สร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร
- ผนวกการดำเนินการด้านความยั่งยืนและเป้าหมายการดำเนินการด้านภูมิอากาศเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Purpose ขององค์กร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนทั้งองค์กร ตามมาด้วยการสื่อสารและการกำหนดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจและความรู้สึกเกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายนี้
จากขั้นตอนและการเตรียมการข้างต้น การวางแผนและเก็บข้อมูลประเด็นผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศทั้งที่มีต่อองค์กร และผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรที่มีต่อภูมิอากาศนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาออกมาเป็นแผนกลยุทธ์ในการมุ่งสู่ Net Zero โดยประเด็นในการพิจารณาเรื่องนี้นั้นควรพิจารณาบูรณาการควบคู่ไปกับโครงสร้างด้านการกำกับดูแลภายในองค์กร และแผนบริหารจัดการด้านความเสี่ยง ตลอดจนประเด็นในด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Governance, Risk and Compliance: GRC)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการดำเนินการที่ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศยังปรากฎไม่แน่ชัด ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ Net Zero ยังไม่ปรากฏภาพที่ชัดเจน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจของผู้นำองค์กร แต่หากผู้นำองค์กรมีความตั้งใจและให้ความสำคัญในประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศ โดยถือให้เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการจัดการเป็นอันดับต้นๆ แน่นอนว่าในช่วงของการเปลี่ยนผ่านย่อมมีผลกระทบทางด้านการเงินต่อองค์กรบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน องค์กรก็อาจจะค้นพบโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับองค์กรได้ ที่สำคัญ โอกาสทางธุรกิจนั้นยังช่วยสนับสนุนและสร้างการเติบโตให้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยคณะกรรมการถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะทำหน้าที่สนับสนุนฝ่ายจัดการในการช่วยปรับทิศทางและมุมมองขององค์กร ชี้ประเด็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
ข้อมูลอ้างอิง:
• Governance Institute of Australia, Guide for boards and management on the path to net zero, April 2022
• World Economic Forum, Global Risks 2022: The ‘disorderly’ net-zero transition is here and it’s time to embrace it, January 2022.
• สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย, แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการเกี่ยวกับการบูรณาการ GRC, 2021
รวงฝน ใจสมุทร
Senior CG Analyst
สถาบันกรรมการบริษัทไทย
|