ทิศทาง Corporate Governance หลังโควิด-19
ท่านคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “หลังจากเกิดโควิด-19 โลกเราจะไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป” คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเลย เนื่องจากเราต่างก้าวเข้าสู่ภาวะ “ชีวิตวิถีถัดไป (Next normal)” ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปิดรับเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในภาคการดำเนินธุรกิจต่างๆ ก็ต้องมีการปรับตัวอย่างมากเช่นกัน องค์กรจำเป็นต้องรับมือกับการแข่งขันท่ามกลางสภาวะโลกหลังโควิด-19 การปรับตัวของธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่ากรอบแนวปฏิบัติของการกำกับดูแลกิจการในปัจจุบันยังเหมาะสม และสามารถใช้ในบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อยู่หรือไม่
The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) เป็นองค์กรที่เริ่มจัดทำ “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นที่ยอมรับและถูกนำไปใช้ในการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับนานาชาติ และถือเป็นมาตรฐานสำหรับภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก OECD ได้มีการทบทวนหลักการกำกับดูแลกิจการครั้งแรกเมื่อปี 2558 โดยภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายในปี 2565 ทาง OECD Corporate Governance Committee ร่วมกับหน่วยงานกำกับฯ และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 50 ประเทศ จึงร่วมกันทบทวนและปรับปรุง G20/OECD Principles of Corporate Governance ขึ้นอีกครั้ง โดยคาดว่าจะเผยแพร่หลักการฯ ฉบับสมบูรณ์ได้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 นี้
ประเด็นสำคัญที่มีการทบทวนใน G20/OECD มี 10 ประเด็นได้แก่
- Corporate ownership trends and increased concentration
- The management of environmental, social and governance (ESG) risks
- The role of institutional investors and stewardship
- The growth of new digital technologies and emerging opportunities and risks
- Crisis and risk management
- Excessive risk taking in the non-financial corporate sector
- The role and rights of debtholders in corporate governance
- Executive remuneration
- The role of board committees
- Diversity on boards and in senior management
IOD ขอหยิบยกบางประเด็นข้างต้น ที่เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนไทยควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มผ่อนคลายแล้ว เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการปรับกระบวนการทำงานให้สอดรับกับการเติบโตแบบ “ยั่งยืน” มากขึ้น ได้แก่ประเด็นดังต่อไปนี้
1. Climate Change and corporate governance
โรคระบาดที่เกิดขึ้นส่งเสริมให้เกิดกระแสความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social, Governance: ESG) มากขึ้น จากผลสำรวจของ OECD พบว่านักลงทุนให้ความสนใจเรื่องสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงด้าน ESG เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนกับบริษัทมากขึ้น ผู้ถือหุ้นมีการแสดงความคิดเห็นมากขึ้นในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและ ESG เช่น เรื่องการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัท หรือการคัดเลือกกรรมการบริษัทที่สามารถผลักดันองค์กรเพื่อให้บรรลุกลยุทธ์เรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ รวมไปจนถึงการร้องเรียน หรือฟ้องร้องบริษัทหากมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงด้าน ESG จึงเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
นอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทเองแล้ว บริษัทควรสนับสนุนให้พันธมิตรของบริษัทดำเนินธุรกิจโดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ หรือพิจารณาการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) เข้าไว้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทก็จะเป็นการยกระดับการกำกับดูแลกิจการด้าน ESG ขึ้นได้อีกด้วย
2. Digitalization and corporate governance
สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้องค์กรปรับกระบวนการทำงานไปเป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น และเป็นตัวเร่งให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การยอมรับ และความเคยชินการใช้เทคโนโลยีภายในช่วงเวลาอันสั้น สิ่งที่เห็นเป็นลำดับแรกๆ ได้แก่ การทำงานของพนักงานในรูปแบบการทำงานทางไกล (remote working) การประชุมคณะกรรมการบริษัท และการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นที่ปรับเป็นรูปแบบ Online หรือ Virtual มากขึ้น โดยคาดว่าเทคโนโลยี VDO Conference จะกลายเป็นภาวะปกติใหม่ของการประชุม เนื่องจากมีความสะดวก และรองรับผู้เข้าประชุมได้เป็นจำนวนมาก
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนับเป็นความท้าทายที่มาพร้อมกับโอกาสที่ดีของธุรกิจ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บริษัทต้องมีความชัดเจนในการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย และควรตรวจสอบกับหน่วยงานกำกับดูแลในเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แน่ชัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง
3. The role of board committee in corporate governance
ในปัจจุบันบริษัทมีการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเฉพาะทางมากขึ้น วัตถุประสงค์คือเพื่อช่วยบริหารจัดการบริษัทภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการบรรษัทภิบาล คณะกรรมการความยั่งยืน หรือคณะกรรมการกำกับดูแลด้านเทคโนโลยี เป็นต้น เนื่องจากคณะกรรมการชุดย่อยเหล่านี้มีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้านที่ลึกกว่า และเป็นการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านต่างๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้บริษัทจำเป็นต้องแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ และความจำเป็นของธุรกิจ เนื่องจากอาจเกิดปัญหาการทำงานแบบแยกส่วน (Silo) กันจนเกินไป หรืออาจเป็นการเพิ่มต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้กับบริษัทได้
4. Diversity on boards and in senior management
โครงสร้างคณะกรรมการที่มีประสิทธิภาพ ควรประกอบด้วยส่วนผสมของกรรมการที่มีความหลากหลาย เช่น ความหลากหลายทางด้านทักษะวิชาชีพ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพศ อายุ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ประสบการณ์ทำงาน เป็นต้น แนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลขององค์กรในยุโรปและเอเชียบางประเทศ มีการกำหนดเรื่องโควตากรรมการเพศหญิงในคณะกรรมการไว้อย่างชัดเจนด้วย เป็นการส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารองค์กรมากขึ้น ในส่วนของประเทศไทยจากฐานข้อมูลบรรษัทภิบาลเพื่องานวิจัยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ณ สิ้นปี 2563 ของบริษัทจดทะเบียน 87.3% จากทั้งหมด ได้แต่งตั้งผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการของบริษัท ซึ่งสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 79.4% ผนวกกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ผลักดันในเรื่องดังกล่าว โดยกำหนดเป็นเป้าหมายปี 2565 ที่จะสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนไทยว่า 30% ของบริษัทจดทะเบียนไทยมีกรรมการหญิงอย่างน้อย 30% ของจำนวนคณะกรรมการทั้งคณะ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้สัดส่วนกรรมการเพศหญิงในคณะกรรมการเพิ่มขึ้นในอนาคต
การทำงานในโลกหลังโควิด-19 เป็นการทำงานที่มีข้อจำกัดต่างๆ มากขึ้น และต้องแข่งกับเวลา วัฒนธรรมองค์กรบางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นบริษัทควรสนับสนุน ยอมรับ ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและความหลากหลายในด้านต่างๆ และควรปรับใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการคัดเลือกตัวแทนที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทต่อไปด้วย
โดยสรุปแล้วนั้น การกำกับดูแลกิจการที่ดียังคงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการปรับองค์กรเพื่อรองรับ “โลกวิถีถัดไป” และการเติบโตแบบ “ยั่งยืน” โดย OECD มีความเชื่อมั่นว่าองค์กรที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี จะสามารถเข้าสู่ตลาดทุนได้ง่ายกว่า มีผลประกอบการทางการเงินที่มั่นคง และมีศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สนับสนุนธุรกิจสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในระยะยาวได้ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทบทวนหลักการ G20/OECD ได้ทาง Review of the G20/OECD Principles of Corporate Governance นอกจากนี้ IOD ยังได้จัดทำข้อมูลการเปรียบเทียบเกณฑ์ Corporate Governance Report (CGR) 2566 vs 2564 ซึ่งครอบคลุมประเด็นทั้ง 4 ข้อด้านบนไว้ด้วย โดยท่านสามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ ข้อมูลการเปรียบเทียบเกณฑ์ CGR 2566 vs CGR 2564
อรกานต์ จึงธีรพานิช
Assistant Manager – R&D Management & Advocacy
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
|