From the IOD Experience: Interesting Findings on ESG Practices
ESG ได้กลายเป็นคำที่คุ้นหูของใครหลายๆ คน และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากการผลักดันจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ โดยมุ่งหวังที่อยากจะให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วน ทั้งในมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากประสบการณ์ของ IOD ที่ได้มีการจัดอบรม จัดงานสัมมนา จัดทำการประเมินผลบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนการจัดทำรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่าหลายบริษัทได้มีวิวัฒนาการในเรื่องนี้อย่างก้าวกระโดด โดยส่วนสำคัญนั้นมาจากความร่วมมือและการทำหน้าที่กำกับดูแลโดยตรงจากคณะกรรมการและผู้นำองค์กรที่ได้ใส่ใจและเห็นเรื่อง ESG เป็นประโยชน์ต่อบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียองค์กรในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ผ่านการดำเนินงานของ IOD ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำให้มองเห็นประเด็นที่น่าสนใจบางอย่างทางด้าน ESG ที่บางบริษัทได้ดำเนินการ แต่กลับเป็นแนวปฏิบัติที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก บทความนี้จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังถึง-3 แนวปฏิบัติทางด้าน ESG ที่อาจจะสามารถนำไปปรับใช้กับองค์กรของท่านได้
เรื่องแรก: ESG Advisory Committee: Alternative to gaining ESG expertise
หนึ่งในเรื่องแรกๆ ที่บริษัทต่างๆ มักจะเริ่มดำเนินการคือ การสรรหากรรมการที่มีประสบการณ์ทางด้าน ESG เข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ เพื่อที่จะให้คำแนะนำหรือความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายจัดการได้ ตลอดจนเป็นการสะท้อนว่าบริษัทได้ให้ความสำคัญต่อเรื่อง ESG ซึ่งถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะสามารถสรรหากรรมการที่มีคุณสมบัติในลักษณะนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความเจาะจงและเฉพาะด้านมาก ซึ่งต้องอาศัยบุคคลที่มีความรู้เชิงเทคนิคจึงจะสามารถเข้าใจธุรกิจได้ นอกจากนี้ยังมีบางบริษัทที่มีประเด็นทางด้าน ESG ที่เกี่ยวข้องหลากหลายด้าน เกินกว่าที่จะสามารถหาบุคคลเพียงคนเดียวหรือไม่กี่คนมาเป็นกรรมการและเข้าใจในทุกเรื่องได้ ด้วยเหตุนี้ จึงพบว่าในบางครั้ง บริษัทในลักษณะนี้มักมีการใช้วิธีอื่นๆ มาช่วยสนับสนุนบริษัท ได้แก่ การแต่งตั้งคณะ Advisory Committee ที่ประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ไม่จำเป็นต้องเฉพาะเจาะจงด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อมาให้ความเห็นในเรื่องต่างๆ และเป็นที่ปรึกษาให้กับกรรมการเกี่ยวกับแนวปฏิบัติทางด้าน ESG ซึ่งจะสะท้อนมุมมองที่รอบด้าน และไม่เป็นการจำเพาะหรือลงในรายละเอียดเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป อีกทั้งยังตอบโจทย์สำหรับบริษัทที่มีประเด็นทางด้าน ESG หลายๆ เรื่องอีกด้วย การมี Advisory Committee นี้เป็นแนวปฏิบัติที่ใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศ โดยเฉพาะกับบริษัทที่มีประเด็นเรื่อง ESG ที่ค่อนข้างมาก ซึ่งทำหน้าที่เหมือนผู้ช่วยคณะกรรมการในการกลั่นกรองประเด็นและกลยุทธ์ด้าน ESG ซึ่งมักจะประกอบไปด้วย Sustainability Experts ด้านต่างๆ และตัวแทนจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
เรื่องที่สอง: Stakeholders as reviewers, not input providers
จากการที่ IOD ได้เคยสัมภาษณ์หลากหลายบริษัทจดทะเบียนถึงแนวทางการกำหนดประเด็น ESG หรือประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญของบริษัท แหล่งข้อมูลสำคัญที่มักใช้ประกอบการพิจารณาคือ มุมมองของฝ่ายจัดการในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินกิจการ มาตรฐานสากลต่างๆ ที่ระบุถึงประเด็น ESG ที่สำคัญ ตลอดจนมุมมองจากผู้มีส่วนได้เสียจากองค์กร ผ่านการสอบถามผ่านช่องทางต่างๆ อย่างไรก็ตาม มีแนวปฏิบัติของบางบริษัทที่น่าสนใจคือ บางบริษัทนั้นเลือกที่จะกำหนดประเด็น ESG หรือประเด็นความยั่งยืนผ่านมุมมองของฝ่ายจัดการเป็นสำคัญก่อน เพราะเชื่อว่า ผู้ปฏิบัติการจะเข้าใจถึงประเด็นความยั่งยืนขององค์กรได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ระบุประเด็นจากมุมมองของฝ่ายจัดการแล้ว จะมีการจัดหมวดหมู่ ประเมินผลกระทบทั้งที่มีต่อองค์กร และผู้มีส่วนได้เสียเพื่อจัดลำดับความสำคัญ แล้วจึงนำผลประเมินและการจัดลำดับความสำคัญที่ได้นั้นไปตรวจสอบกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรอีกที ซึ่งขั้นตอนและวิธีการนี้ จะช่วยร่นระยะเวลาและทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถให้ความเห็นได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีกรอบและหลักการมาอธิบายเพื่อเพิ่มความเข้าใจ ผู้มีส่วนได้เสียจึงสามารถเสริมหรือต่อยอดจากหลักการเหล่านั้นได้ ต่างจากการสอบถามประเด็น ESG แบบเปิดเผยโดยตรงจากผู้มีส่วนได้เสียแต่แรกเริ่ม ซึ่งจะทำให้ผลตอบรับที่ได้นั้นมีความหลากหลายและอาจมีส่วนคำแนะนำที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจได้
เรื่องที่สาม: From Sustainable Production to Sustainable consumption
หากไปศึกษาถึงแนวทางจัดการประเด็น ESG หรือกลยุทธ์ความยั่งยืนขององค์กรต่างๆ ผ่านรายงานที่บริษัทได้เปิดเผย จะพบว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นแนวทางการจัดการที่เน้นถึงการปรับเปลี่ยนทิศทางกลยุทธ์หรือแนวทางการดำเนินงานของบริษัทที่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่ได้คำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ เช่น การพิจารณาปรับกระบวนการผลิตที่สร้าง cost efficiency และลดการปล่อยของเสีย การใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเกิด Energy saving ตลอดจนการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืนให้กับบริษัท ซึ่งถือเป็นการจัดการประเด็นความยั่งยืนในมุมของผู้ผลิตหรือบริษัทเป็นสำคัญ หรือที่เรียกว่า Sustainability from the supply side อย่างไรก็ตาม พบว่ามีบางบริษัทที่สามารถปรับกลยุทธ์ความยั่งยืนหรือปรับกระบวนการดำเนินงานที่ไปส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้เห็นความสำคัญและคำนึงเรื่องความยั่งยืนได้ หรือที่เรียกว่า Sustainability from the demand side เช่น การส่งเสริมให้ผู้ซื้อสินค้าและบริการสามารถนำของเก่ามารีไซเคิลสร้างสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ หรือการที่บริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรับผิดชอบในการดื่ม (Responsible drinking) เช่น เบียร์แอลกอฮอล์ 0% เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ คงเป็นเรื่องที่ดีหากบริษัทสามารถพัฒนากลยุทธ์หรือแนวทางจัดการประเด็นความยั่งยืนที่มองทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน และเริ่มปรับมุมมองจากการมุ่งเน้นที่ Sustainable Production ไปสู่ Sustainable Consumption ที่มากขึ้น
จากประเด็นทั้งสามเรื่องข้างต้น บางองค์กรอาจมองเป็นเรื่องปกติ เพราะได้มีการดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว แต่สำหรับองค์กรที่อาจจะยังไม่คุ้นกับแนวทางข้างต้น อาจลองพิจารณาและหารือถึงความเหมาะสมในการนำมาปรับใช้ และถึงแม้ว่าแนวทางข้างต้นอาจจะไม่เหมาะสมกับบางองค์กร แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่องค์กรจะได้ลองเริ่มหารือหรือมีมุมมองเรื่องความยั่งยืนในแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น
ในปี 2023 นี้ IOD มีแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในเรื่องของ ESG กับความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะผ่านทางหลักสูตรสำหรับกรรมการ การจัดงานสัมมนาผ่านกลุ่ม Community of Practices โดยเฉพาะทางด้าน Sustainability ตลอดจนการประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ครอบคลุมทางด้าน ESG มากขึ้น อยากให้กรรมการทุกท่านได้ติดตาม เพื่อที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งและแรงผลักดันสำคัญที่จะนำพาองค์กรไทยไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ธนกร พรรัตนานุกูล
ผู้อำนวยการ
สถาบันกรรมการบริษัทไทย
|