GRI Standards มาตรฐานโลก มาตรฐานเรา
Global Reporting Initiative หรือ GRI เป็นองค์กรอิสระที่ได้รับการก่อตั้งโดยสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ในปี 1997(1) ทำหน้าที่พัฒนาและเผยแพร่กรอบการรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ที่ได้รับความนิยมในระดับสากล เนื่องจาก GRI มีการกำหนดตัวชี้วัดที่ไม่ซับซ้อนและง่ายต่อการทำความเข้าใจ เหมาะสำหรับบริษัททุกประเภท ทุกขนาด และทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการสื่อสารแก่กลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย โดยรายงานแยกกันระหว่างผลประกอบการ (Financial Performance) และผลการดำเนินงานทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Non-Financial Performance)
GRI Guidelines ฉบับแรก (G1) ได้ถูกจัดทำในปี 2000 และมีการนำไปใช้ในปีถัดมา ตั้งแต่ได้รับการนำไปใช้ GRI Guidelines มีการพัฒนาและปรับปรุงเนื้อหาที่มีสาระสำคัญอย่างสม่ำเสมอ การปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุด GRI Guidelines 2021 (G4)(2 ) มีขึ้นในปี 2021 และนำมาใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2023 เนื้อหา G4แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. GRI Universal Standards เป็นมาตรฐานที่เกี่ยวกับหลักการและการเปิดเผยข้อมูล, 2. GRI Sector Standards เป็นมาตรฐานที่กำหนดเฉพาะบาง sector, และ 3. GRI Topic Standards เป็นกรอบของข้อมูลหรือส่วนประกอบที่จะต้องเปิดเผยในแต่ละประเด็น
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai IOD) มุ่งส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสและเชื่อถือได้แก่ผู้มีส่วนได้อย่างมีมาตรฐานเป็นไปตามกรอบการรายงานระดับสากล ทั้งนี้ Thai IOD เชื่อมั่นว่ามาตรฐาน GRI จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้บริษัทจดทะเบียนสามารถเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างมีมาตรฐาน เพื่อสร้างความไว้วางใจ และความน่าเชื่อถือแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งบริษัทสามารถนำ GRI Guidelines มาปรับใช้ในการวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ 2 รูปแบบคือ 1. In Accordance คือการใช้ตามแบบมาตรฐานของ GRI และ 2. With Reference คือการนำมาตรฐานไปอ้างอิง
การนำมาตรฐาน GRI มาใช้สามารถสร้างประโยชน์แก่บริษัททั้งในมิติภายใน เช่น การเชื่อมโยงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของบริษัทให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน รวมถึงทำให้มีผู้สนใจที่จะมาร่วมทำงานหรือเป็นพนักงานในองค์กร ส่วนมุมมองจากภายนอกบริษัท ทำให้เกิดการสร้างความไว้วางใจ, ความเคารพ, และชื่อเสียงแก่บริษัท
จากผลสำรวจการรายงานความยั่งยืนประจำปี 2022 โดยบริษัท KPMG(3) พบว่าบริษัทที่มีรายได้สูงสุดหนึ่งร้อยบริษัทแรกในประเทศไทย มี 97 บริษัทที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน แสดงให้เห็นว่าบริษัทในประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการสื่อสารการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และสะท้อนภาพลักษณ์ของการดำเนินธุรกิจในระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ ที่ผ่านมาบริษัทในประเทศไทยจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนในรูปแบบที่แตกต่างกัน แม้ว่าบริษัทจะอยู่ในประเภทเดียวกัน ขนาดทางการตลาดใกล้เคียงกัน หรือแม้กระทั่งดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามประเด็นที่บริษัทต้องการจะสื่อสารโดยไม่มีรูปแบบในการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียและนักลงทุนเกิดความสับสนและยากต่อความเข้าใจ จนอาจส่งผลต่อการพิจารณาตัดสินลงทุน ยิ่งไปกว่านั้นรายงานความยั่งยืนส่วนมากยังเป็นการสื่อสารเพียงประเด็นที่เป็นผลกระทบเชิงบวก (Positive Material Issues) แต่เพียงด้านเดียว ซึ่งไม่สามารถสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business) ได้อย่างแท้จริง
มาตรฐาน GRI เป็นกรอบการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนที่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อตรวจสอบ (Checklist) ช่วยให้บริษัทระบุศักยภาพด้านความยั่งยืนทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการกำหนดหัวข้อที่เป็นสาระสำคัญ (Material topics) จากผลกระทบที่มีนัยสำคัญที่บริษัทสร้างขึ้นต่อ ห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ด้วยหลักการ Double Materiality ผ่านการประเมินผลกระทบจากปัจจัยภายนอกบริษัท (Outward Impact) และผลกระทบจากภายในบริษัท (Inward Impact) ว่าบริษัทส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไร และบริษัทจะได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไรในอนาคต
การจัดทำรายงานความยั่งยืนจึงควรเป็นการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เป็นกระบวนการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่มุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลอย่างมีคุณภาพ ประมวลความเสี่ยงด้าน ESG ที่สะท้อนถึงการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัท เพื่อทำให้บริษัทสามารถกำหนดเป้าหมายในการปรับปรุงกิจกรรมที่ส่งผลกระทบในเชิงลบ และกำหนดเป้าหมายในการพัฒนากิจกรรมที่ส่งผลกระทบเชิงบวก นำไปสู่การลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ในระยะยาวบริษัทจะสามารถประหยัดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
ดังนั้น การจัดทำรายงานความยั่งยืนอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกันนอกจากจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่ตอบสนองต่อความสนใจของผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ยังสามารถช่วยให้บริษัทดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และหากทุกบริษัทร่วมกันลดผลกระทบเชิงลบและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย เมื่อรวมกันแล้วย่อมส่งผลกระทบอย่างมหาศาลที่ช่วยพื้นฟูภาวะโลกรวน (Global Turbulence)(4) ของเราได้อย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูล
1. รายงานการพัฒนาความยั่งยืนตามกรอบ GRI : กุลชุดา ดิษยบุตร และ อุรศา ศรีบุญลือ : สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ : https://www.ftpi.or.th/wp-content/uploads/2022/03/GRI-Standards-2021.pdf
2. Time line of GRI History : Global Reporting Initiative : https://www.globalreporting.org/about-gri/mission-history
3. Big shifts, small steps : KPMG Survey of Sustainability Reporting 2022, KPMG International, September 2022 (P.14) : https://assets.kpmg.com/content/dam/kpmg/xx/pdf/2022/10/ssr-executive-summary-small-steps-big-shifts.pdf
4. ภาวะโลกรวน ส่งผลทำให้โลกร้อนและก่อให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม : https://greendigitallibrary.deqp.go.th/news/detail/631
กีรติ คงสมาน
Analyst - R&D Management & Advocacy
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
|